วิธีป้องกันตนเอง เมื่อเกิดแผ่นดินไหว

แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:

แผ่นดินไหวคืออะไร

แผ่นดินไหว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะการเคลื่อนไหวของดินและหินบนผิวหน้าของโลก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของแผ่นซ้อนที่อยู่ภายในโลก ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระจายพลังงานที่รวมกัน ซึ่งแผ่นดินที่เคลื่อนไหวอาจก่อให้เกิดความเสียหายให้กับพื้นที่รอบ ๆ โดยทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนของพื้นผิว การสั่นสะเทือนนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง อาคารหรือวัตถุที่มีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงต่าง ๆ

แผ่นดินไหวมีหลายขนาด แบ่งเป็นกลุ่มตามขนาดความเสียหาย เริ่มตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนความเสียหายระดับสูงสุด ดังนั้นการเตรียมตัวและศึกษาวิธีป้องกันตนเองเป็นสิ่งสำคัญในลดความเสี่ยงในเหตุการณ์แผ่นดินไหวสำหรับผู้สูงอายุ

บทความนี้ได้แนะนำวิธีป้องกันตนเองตามขั้นตอนพื้นฐาน ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุป้องกันความเสี่ยงและพร้อมรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้เป็นอย่างดี

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในไทย

ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายต่อหลายครั้ง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตก การเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเรื่องไกลตัว เพราะในประเทศไทยเองก็มีรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่มีพลังอยู่ถึง 14 รอยเลื่อน และเคยปรากฏเหตุแผ่นดินไหวมาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไปหลายระดับตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก และส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารได้

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศครั้งล่าสุด วันที่ 20 ตุลาคม 2565 เวลา 4:36 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.1 ริกเตอร์ที่ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ รับรู้ความรู้สึกสั่นไหวได้ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่ริม และอำเภอสันทราย รวมไปถึงอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน และอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา หรือก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วันก็เกิดเหตุใน วันที่ 2 สิงหาคม 2565 เวลา 23:03 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 แมกนิจูดที่ประเทศเมียนมา ส่งผลความสั่นสะเทือนมาถึงจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ของประเทศไทย อาคารบ้านเรือนสั่นสะเทือน เกิดเป็นเสียงดังยามค่ำคืน สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เกิดอาการตกใจ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้และเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีตเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว และอาจเป็นอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยงอย่างเช่นผู้สูงอายุ เราจึงควรเตรียมพร้อมและศึกษาวิธีป้องกันตนเองกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่เราก็สามารถลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์เหล่านี้ได้ โดยการเตรียมความพร้อม เช่น การมีแผนฉุกเฉินและการเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองเมื่อเกิดแผ่นดินไหว 

ความอันตรายของเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้สูงอายุ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกเพศวัย แต่กลุ่มเปราะบางที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นผู้ที่มีภาวะเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายในสถานการณ์แผ่นดินไหวมากกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ ด้านสุขภาพร่างกายที่เริ่มชราภาพ โรคประจำตัวต่าง ๆ มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือ

เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้การดูแลของผู้สูงอายุในสถานการณ์แผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง  และอาจไม่สามารถทำตามขั้นตอนวิธีการป้องกันตนเองเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ความอันตรายของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการล้มสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากมีการอ่อนแอของกล้ามเนื้อและกระดูกและมีปัญหาการทรงตัว

เหตุการณ์แผ่นดินไหวอาจทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนของพื้นดินทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการล้มในผู้สูงอายุ รวมถึงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงต่ออาคาร อาจมีวัตถุหรือสิ่งของที่เสียหายที่สามารถตกลงมาได้ ทำให้มีอันตรายต่อผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุอาจหนีออกจากพื้นที่ที่เสี่ยงได้ไม่ทันท่วงที

การเตรียมตัวและการศึกษาวิธีป้องกันตนเองเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงในเหตุการณ์แผ่นดินไหวสำหรับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรรู้วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องในกรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหาย หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวควรระมัดระวังสิ่งของที่ร่วงหรือหล่นลงมาในพื้นที่รอบ ๆ บริเวณที่อยู่และหาที่หลบซ่อนที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บหรืออันตรายเพิ่มเติมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

วิธีป้องกันตนเองเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว

การเกิดแผ่นดินไหวซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมและคาดเดาได้ ดังนั้นควรต้องมีวิธีรับมือหากเกิดแผ่นดินไหว จะได้มีวิธีเอาตัวรอด

สิ่งที่สำคัญไม่ว่าจะพบเจอเหตุการณ์ใดก็ตามคือ “สติ” ผู้สูงอายุควรใช้สติแก้สถานการณ์นั้นเท่าที่ทำได้ อย่าตื่นตกใจจนทำให้เกิดอันตรายตามมา หลังจากนั้นจึงทำตามข้อปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวตามสถานการณ์ที่เหมาะสม บทความนี้ได้แนะนำวิธีป้องกันตนเองต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวสำหรับผู้สูงอายุ ดังนี้

  1. ทันทีที่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของแผ่นดินไหวควรหาที่หลบซ่อนทันที เช่น หลบซ่อนใต้โต๊ะ หรือเข้าไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยที่มีโครงสร้างที่แข็งแรงและรับน้ำหนักได้มากเพื่อระมัดระวังเกี่ยวกับสิ่งของที่ร่วงหรือหล่นลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว แนะนำให้อยู่ห่างจากหน้าต่างหรือกระจก ประตูและระเบียงเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เช่น กระจกหรือวัสดุอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ ออกห่างจากหน้าต่าง และประตู โดยเฉพาะกระจก ป้องกันอันตรายและลดความเสี่ยงการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากกรณีตัวโครงสร้างที่ถูกทำลายจากแผ่นดินไหวรุนแรง ควรอยู่ต่อเนื่องในที่หลบซ่อนหากยังรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และระมัดระวัง After Shock ที่อาจจะตามเรื่อย ๆ เป็นระลอก ๆ จากสถานการณ์แผ่นดินไหว 
  2. หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เนื่องจากมีความเสี่ยงที่แรงสั่นสะเทือนจะทำให้ลิฟท์หยุดทำงาน และแรงสั่นสะเทือนอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวอาคาร ซึ่งอาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้ หากอาศัยอยู่ในอาคารสูงและมีวิธีการป้องกันตนเองรองรับสำหรับการหนีออกจากตัวคารได้ ให้ผู้สูงอายุปฏิบัติตามวิธีการป้องกันตนเองและรีบหนีออกจากอาคารให้เร็วที่สุด กรณีที่อยู่นอกตัวอาคารอยู่แล้ว ห้ามเข้าไปในอาคาร และสังเกตจุดที่ยืนหลบภัยตามข้อปฏิบัติ ซึ่งต้องไม่มีสิ่งปลูกสร้างสูง ป้ายโฆษณา ต้นไม้ เสาไฟฟ้า โดยรอบ เพื่อป้องกันการถล่มหรืออุบัติเหตุได้ 
  3. หากไม่สามารถหาที่หลบซ่อนในตัวอาคารได้ หรือไม่สามารถหนีออกจากพื้นที่ที่เสี่ยงได้ ผู้สูงอายุควรรอการช่วยเหลือจากบุคคลอื่น และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่ตามมา เช่น การหกล้ม ผู้สูงอายุควรรอคอยผู้ช่วยเหลือด้วยสติและตั้งสติระมัดระวังตัวเองเป็นอย่างแรกในเหตุการณ์แผ่นดินไหว วิธีป้องกันตนเองตามขั้นตอนนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุป้องกันความเสี่ยงและมีความพร้อมที่จะรับมือในการแก้ไขสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เหมาะสมได้

สรุป

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่คาดคิด การป้องกันตนเองจากอันตรายแผ่นดินไหวเป็นเรื่องสำคัญในการอยู่ร่วมกับภัยพิบัติที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ผู้สูงอายุควรหาที่หลบซ่อนทันที ไม่ควรใช้ลิฟท์ ระมัดระวังเกี่ยวกับสิ่งของที่ร่วงหรือหล่นลงมาและอยู่ในกลุ่มคนที่ปลอดภัย หลังจากเหตุการณ์สิ้นสุดลงควรระมัดระวังเกี่ยวกับอันตรายเพิ่มเติมที่อาจเกิดขึ้น

ผู้สูงอายุอาจทำความคุ้นเคยกับทางออกฉุกเฉิน หรือวิธีการป้องกันตนเอง และการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพื่อป้องกันความเสี่ยงและพร้อมในการแก้ไขสถานการณ์ หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะได้สามารถหนีออกมาได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ลดความเสี่ยงการสูญเสีย บาดเจ็บ และเสียชีวิต

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2562). 10 วิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว https://resourcecenter.thaihealth.or.th/media/730Q สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 2, 2566
Lalita C. (2565). ย้อนรอย แผ่นดินไหวในไทยที่รุนแรงที่สุด ในรอบ 100 ปี https://thethaiger.com/th/news/612102/ สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 2, 2566
บทความก่อนหน้า >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down