8 วิธีดูแลผู้สูงอายุ ให้สูงวัยสุขภาพดี

หมวดหมู่:
October 7, 2022
แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:
ผู้สูงอายุหญิงมองหน้าลูกสาว ยิ้ม มีความสุข

เคล็ดลับการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีสุขภาพดี

  • ดูแลผู้สูงอายุให้มีการออกกำลังสม่ำเสมอ ไม่ให้น้ำหนักตัวเกิน
  • งดปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ดูแลผู้สูงอายุให้หลับสบายตอนกลางคืน
  • จัดหาอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลผู้สูงอายุให้มีช่องปากที่สะอาด ป้องการการสำลักเชื้อโรค 
  • ปรับที่อยู่ ติดตั้งราวจับ ลดการลื่นล้ม ลดอุบัติเหตุ
  • ทำกิจกรรมรื่นเริงกับผู้คนอย่างสม่ำเสมอ ให้รู้สึกถึงความหมายของชีวิต

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ด้วยสัดส่วนที่มากขึ้นของผู้สูงอายุเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ดูแลที่ลดลง การดูแลผู้สูงอายุจึงถือว่าเป็นงานที่ยากและท้าทายสำหรับลูกหลานและผู้ดูแลที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงควรคำนึงถึงคุณภาพของวิธีการดูแลผู้สูงอายุให้มากขึ้น เพิ่มความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับญาติและผู้ดูแลเพราะผู้สูงอายุมีความต้องการที่แตกต่างกับช่วงวัยอื่น ๆ วิธีการดูแลผู้สูงอายุมีหลายวิธีด้วยกัน ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากหากเราเข้าใจและใส่ใจดูแลผู้สูงอายุ ท่านก็จะสามารถอยู่กับเราไปได้นาน

รวม 8 วิธีในการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุให้สุขภาพดี

1. ออกกำลังกายชะลอวัย

ผู้สูงอายุหญิงขี่จักรยานในสวน

ร่างกายที่กระฉับกระเฉงทำให้สมองทำงานได้ดี ผู้สูงอายุที่กระตือรือร้นมักจะดูเด็กกว่าอายุ วิธีการดูแลผู้สูงอายุให้มีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง เพื่อร่างกายที่แข็งแรง เพิ่มการทรงท่าทรงตัว ช่วยป้องกันการล้ม และยังช่วยเพิ่มการทำงานของสมองอีกด้วย การออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียดและทำให้หลับได้ดีขึ้น เช่น เดินเร็ว, วิ่งเหยาะๆ, เดินแกว่งแขน, ปั่นจักรยานช้าๆ จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตทั่วร่างกาย ฝึกทำกายบริหาร เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันข้อติด กิจกรรมรำไทเก๊ก เต้นลีลาศ หรือเล่นโยคะช่วยเรื่องการทรงตัว ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ควรออกกำลังกายประมาน 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ ออกกำลังกาย 5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 30 นาที ก็เพียงพอต่อการมีสุขภาพที่ดีของผู้สูงวัย

อ่านเพิ่มเติม > ท่าออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ

2. ต้องหลับให้ลึก

ผู้สูงอายุนอนปิดตา มีนาฬิกาปลุกข้างเตียง

อายุที่มากขึ้นทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับตามวัย ภาวะสมองเสื่อม สุขภาพร่างกายที่ถดถอย ภาวะซึมเศร้า และสภาวะอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งผลต่อวิธีการนอนของผู้สูงอายุ  ผู้สูงอายุบางคนมักจะหงุดหงิดและอารมณ์เสียเป็นประจำ แต่การนอนหลับอย่างมีคุณภาพสามารถช่วยปรับปรุงและควบคุมความคิดเชิงลบบางอย่างของผู้สูงอายุได้ โดยพฤติกรรมที่ขัดขวางการนอนหลับของผู้สูงอายุ ได้แก่ การงีบหลับตอนกลางวัน การดื่มชากาแฟ การใช้เตียงนอนทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การนอน เช่น ดูทีวี หรือกินบนที่นอน จะทำให้ผู้สูงอายุไม่ชินกับการนอนหลับ ดังนั้นจึงควรดูแลผู้สูงอายุให้สามารถนอนหลับได้เต็มที่มากที่สุดโดยก่อนนอนไม่ให้ผู้สูงอายุงีบหลับในเวลากลางวัน งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ งดสูบบุหรี่ งดทำกิจกรรมเคลื่อนไหวมาก ๆ ในช่วงเย็น จัดสิ่งแวดล้อมที่สงบและสบายเวลานอน อุณหภูมิห้องนอนไม่ควรสูงหรือต่ำจนเกินไป 

3. กินดีจะได้อยู่ดี

อาหารหลากหลายในถ้วยสีขาว 8 ถ้วย

การดูแลผู้สูงอายุให้ทานอาหารที่ดี จะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย เพื่อจะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี

ควรดูแลผู้สูงอายุให้ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้วเป็นประจำทุกวัน เนื่องจากผู้สูงอายุมีการเผาผลาญที่น้อยลงจึงควรลดอาหารพลังงานสูง โดยทานไขมันและโปรตีนที่ได้จากปลา ทานอาหารทะเลและสัตว์ปีกแทน เพราะปลาที่มีไขมันจะให้กรดไขมันโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน เป็นต้น  ใช้ไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่ว หรืออะโวคาโดบริสุทธิ์ ทานแป้งไม่ขัดสี ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท และเมล็ดธัญพืช หรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอื่น ๆ เป็นต้น

ผู้ดูแลควรให้ผู้สูงอายุทานผักและผลไม้หลากสี เพราะมีใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่ายและมีสารอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะผักใบเขียวและผักตระกูลกะหล่ำ เช่น บรอกโคลีและคะน้า หรือผลไม้ โดยเฉพาะผลเบอร์รี่สีเข้ม พืชตระกูลถั่วและถั่วเปลือกแข็ง

หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะเกลือ และรวมไปถึงการจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะร่างกายของผู้สูงอายุต้องการสารอาหารเหล่านี้เพื่อต่อสู้กับความเสื่อมตามวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ เราจึงควรดูแลการกินของผู้สูงอายุให้อย่างดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม > โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ

4. สุขภาพช่องปากก็สำคัญ

มือผู้ดูแลบีบยาสีฟันให้ผู้สูงอายุ

อาหารการกินดีแล้ว ก็ต้องดูแลทำความสะอาดช่องปากให้ดีด้วย เพราะผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะปอดติดเชื้อ โดยที่สาเหตุเกิดจากการสำลักเอาเชื้อโรคในช่องปากเข้าไปในร่างกาย  ในผู้สูงอายุบางรายมีภาวะกลืนลำบาก มีอาหารติดค้างอยู่ในทางเดินอาหารอาจเกิดการสำลักเงียบ จึงควรดูแลผู้สูงอายุให้มีช่องปากที่สะอาดทั้งก่อนและหลังทานอาหาร เพื่อลดการสะสมเชื้อโรคในช่องปาก รวมถึงควรเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ คอยดูแลผู้สูงอายุให้แปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน คือตอนเช้าและก่อนเข้านอน มีอุปกรณ์เสริมในการช่วยทำความสะอาด เช่น ไหมขัดฟัน เป็นต้น

5. กิจกรรมเยียวยาใจ

ผู้สูงวัยหญิงสามคนยืนกอดคอกัน ยิ้มแย้ม

จิตใจที่กระฉับกระเฉงจะทำให้สุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้สูงอายุยังดูแข็งแรงเหมือนวัยเด็ก จึงควรดูแลผู้สูงอายุให้มีปฏิสัมพันธ์และมีกิจกรรมอยู่เสมอ กิจกรรมทางใจและการมีส่วนร่วมกับสังคมจะสามารถช่วยชะลอกระบวนการชราได้ เช่น กิจกรรมการเล่นเครื่องดนตรี เต้นรำ วาดรูประบายสี อ่านหนังสือ ฟังเพลง

กิจกรรมสันทนาการของผู้สูงอายุเหล่านี้จะช่วยให้มีการทำงานของสมองและเซลล์ประสาท ช่วยลดความเครียดและวิตกกังวล และการดูแลผู้สูงอายุที่เหมือนจะง่ายแต่ก็มักทำได้ยาก คือการให้ผู้สูงอายุแวดล้อมไปด้วยผู้คน การเข้าสังคมได้พูดคุยถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านมาในชีวิต ทำให้พวกท่านได้รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกประสบความสำเร็จกับการใช้ชีวิตที่ผ่านมา การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นทั้งต่างวัยและวัยเดียวกันจะทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายกับช่วงเวลาสุดท้ายที่เหลืออยู่ ความอบอุ่นจากผู้คนรอบข้างจะช่วยผู้สูงอายุมีความสุขทางใจ

6. ปรับบ้านให้เหมาะสม

ผู้สูงอายุอ่อนแรงครึ่งซีกจับราวทางลาด

การปรับสภาพบ้านและที่พักอาศัยก็ถือเป็นการดูแลผู้สูงอายุที่สำคัญมากอีกวิธีหนึ่งที่หลายบ้านมักละเลย จนนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อสุขภาพและอาจเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันกับผู้สูงอายุ เช่น การลื่นหกล้ม

อ่านเพิ่มเติม > เช็ค 6 จุดเสี่ยงที่ผู้สูงอายุมักลื่นล้มในบ้าน

จึงควรดูแลผู้สูงอายุโดยจัดให้อยู่ในสายตาเสมอหรือง่ายต่อการเข้าช่วยเหลือ ปรับไม่ให้มีพื้นต่างระดับ เพิ่มทางลาด ลดการใช้บันได ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ วางแผ่นรองกันลื่นล้มในห้องน้ำ หรือบริเวณที่ผู้สูงอายุต้องใช้เดินบ่อย ๆ  จัดหาอุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เช่น ไม้เท้าช่วยเดิน ห้องพักศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Winest Rehab มีมาตรฐานและความปลอดภัยตามหลักสากลเพื่อให้คุณมั่นใจได้ว่าผู้สูงอายุที่คุณรักจะใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย

7. เฝ้าระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ

แม้จะปรับสภาพบ้านและที่อยู่ให้เหมาะสมแล้วแต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ผู้ดูแลจึงควรเป็นคนที่หูไวตาไว ตื่นตัวอยู่เสมอ คอยคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุร้ายและป้องกันไว้ก่อน เพราะการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง เนื่องจากร่างกายที่ไม่อาจฟื้นตัวได้เร็วเหมือนแต่ก่อน จึงต้องคอยระวังไม่ให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุได้ 

สาเหตุของอุบัติเหตุในผู้สูงอายุมาจากร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนคนหนุ่มสาว การตื่นตัวช้า เคลื่อนไหวช้า ทักษะการระมัดระวังตนเองลดลง การมองเห็นที่แย่ลงส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การกินยาที่อาจทำให้ง่วงซึม โรคประจำตัวที่ส่งผลที่การเคลื่อนไหวร่างกาย เหล่านี้เป็นปัจจัยภายในตัวของผู้สูงอายุที่มิอาจป้องกันได้ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ทั้งสิ้น

8. สังเกตความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ

หน้าผู้สูงอายุชาย มีริ้วรอยบนใบหน้า

ร่างกายที่เสื่อมถอยของผู้สูงอายุมักเกิดความผิดปกติได้ง่าย ผู้ดูแลผู้สูงอายุควรหมั่นสังเกตความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เพราะนั่นอาจเป็นการส่งสัญญาณของร่างกายและจิตใจ เช่น ซึม เหม่อลอย ทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เครียด ขับถ่ายลำบาก นอนไม่หลับ หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้โดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรพาไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียดหรือพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุความผิดปกติเพิ่มเติม

เตรียมตัวให้พร้อม สู่วัยสูงอายุ…

หลักการสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุคือชะลอการเสื่อมถอยของร่างกายและจิตใจให้ได้มากที่สุด ปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งทางกายภาพและทางสังคมให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้มากที่สุด วิธีการดูแลผู้สูงอายุให้สูงวัยสุขภาพดี ต้องเริ่มจากการเตรียมความพร้อมของผู้ดูแล การเอาใจใส่ผู้สูงอายุ เข้าใจว่าผู้สูงอายุต้องการอะไรที่แตกต่างจากคนวัยอื่น ๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้กินดี อยู่ดี สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดีและแวดล้อมไปด้วยสิ่งดี ๆ รอบตัว

หากคุณสนใจให้พ่อแม่หรือผู้สูงอายุที่คุณรักได้รับการดูแลอย่างดีด้วยทีมบุคลากรการแพทย์ นักกิจกรรมบำบัด และนักกายภาพบำบัด หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Winest Rehab ยินดีให้คำแนะนำ ติดต่อสอบถามเราได้ที่นี่

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล


เอกสารอ้างอิง

Healthy Aging 
https://www.psychologytoday.com/us/basics/aging/healthy-aging?fbclid=IwAR1vCtCxRsAd3bEk0YkKtNDWARZ17KkYDS1jU0561d6Bwd7uq8DcwffPJ9E

Puengsawad, S., Rungrongthong, S., & Temsiririrkkul, S. (2022). การ แนะนำ โภชนาการ อาหาร สำหรับ ผู้ สูงอายุ ด้วย โปรแกรม ประยุกต์ บน มือ ถือ. วารสาร วิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี หัวเฉียว เฉลิมพระเกียรติ, 8(2), 19-32.

ปณิธาน สน พะ เนา. (2019). วิธี การ ดูแล สุขภาพ ช่อง ปาก ของ ผู้ สูงอายุ. วารสาร วิจัย และ พัฒนา ด้าน สุขภาพ, 5(1), 4-12.
บทความถัดไป >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down