หัวข้อ
เมื่อเราอายุมากขึ้น ร่างกายของเราต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างอิสระในบ้านของตนเอง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีหลายด้าน ได้แก่
ผู้สูงอายุมีระบบการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อและกระดูกที่อ่อนแรงลงมากกว่าวัยอื่น ๆ ทำให้เดิน ขึ้นบันได หรือยกของหนักได้ยากขึ้น ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาในการมองเห็นหรือการได้ยิน ซึ่งทำให้ยากต่อการใช้ชีวิตในบ้านหรือใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างปลอดภัย
แน่นอนว่าผู้สูงอายุจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในด้านความจำ การรับรู้ และความสามารถในการตัดสินใจ ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงมีความลำบากในการทานยาประจำตัว การทำอาหาร หรือการใช้เงินได้ยากขึ้น
ผู้สูงอายุอาจแยกตัวออกจากเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความเหงา ซึมเศร้าและวิตกกังวล
ลองจินตนาการว่าหากเรามีร่างกายที่อ่อนแอลง แรงในการจะเดินก็น้อยลง สายตาที่เริ่มพล่ามัว หากเรามีอาการเช่นนี้จะอยู่อาศัยในบ้านให้ปลอดภัยได้อย่างไร และแน่นอนว่าอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุนั้นทำให้การอยู่อาศัยในบ้านอย่างปลอดภัยเป็นไปได้ยากมากขึ้น
การปรับสภาพบ้านและสภาพแวดล้อมทำให้ผู้สูงอายุปลอดภัยและเข้าถึงการใช้งานต่าง ๆ ภายในบ้านได้มากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ที่มีการเคลื่อนไหวยากลำบากภายหลังการป่วย ทั้งภาวะอ่อนแรงและการรับรู้ ความเข้าใจที่บกพร่องไปซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้านให้เฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองและผู้สูงอายุให้สามารถยังใช้ชีวิตอยู่บ้านร่วมกับบุคคลอื่น ๆ ในครอบครัวได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด
การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในบ้านเพียงเล็กน้อยก็สามารถลดความเสี่ยงของการหกล้ม เพิ่มความคล่องตัว และเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยรวมสำหรับทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง
ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงความสำคัญของการปรับสภาพบ้านสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และให้คำแนะนำในการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและสะดวกสบาย
การหกล้มเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บและเสียชีวิตในผู้สูงอายุ สำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง การหกล้มก็เป็นปัญหาที่สำคัญเช่นกัน เนื่องจากผู้ป่วยหลอดเลือดสมองมีปัญหาเรื่องการทรงตัวและการประสานงานการเคลื่อนไหว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น และสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุดสำหรับผู้สูงอายุคือบริเวณห้องน้ำและบันได การปรับสภาพบ้านสามารถลดโอกาสของการหกล้มและอุบัติเหตุอื่น ๆ ส่งเสริมความปลอดภัยและส่งเสริมการดำเนินชีวิตประจำวันในบ้านได้
Universal Design (UD) คือการออกแบบอาคารและการปรับสภาพบ้านเพื่อให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการก็สามารถใช้งานได้ สร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงพื้นที่ในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต โดยศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Winest ได้ออกแบบตามหลัก 7 ประการของ Universal Design (UD) ดังนี้
เริ่มตั้งแต่ทางเข้าอาคารศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Winest มีทั้งบันไดและทางลาด เพื่อให้ทุกคนรวมทั้งผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่ต้องใช้รถเข็นหรืออุปกรณ์ช่วยเดินอื่น ๆ ได้เข้า-ออกอาคารอย่างสะดวก มีราวจับตลอดทางลาดเพื่อการจับยึดขณะผู้สูงอายุใช้ทางลาด เพิ่มความมั่นคงในการเดิน ลดโอกาสในการหกล้ม
โต๊ะที่ผู้สูงอายุใช้ในการนั่งทานอาหารมีความสูงในระดับที่ผู้ใช้รถเข็นสามารถสอดใต้โต๊ะได้และใช้โต๊ะร่วมกันได้กับการนั่งเก้าอี้ทั่วไปได้
อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในศูนย์ สามารถปรับสภาพ ความสูง-ต่ำ ขึ้น-ลง ได้ตามความเหมาะสมของผู้ใช้ เช่น เตียงนอนที่สามารถปรับระดับสูงต่ำได้ ฝักบัวอาบน้ำที่สามารถปรับระดับความสูงได้
ภายในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Winest มีความเรียบง่ายลดทอนความซับซ้อนในการใช้งานทั้งภาษาและปุ่มกด ได้ออกแบบให้เข้าใจง่ายให้กับคนทุกกลุ่ม ป้ายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ สามารถอ่านได้ชัดเจนมีสีสัน สังเกตได้ง่ายเพื่อรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุ
มีโต๊ะข้างเตียงเพื่อใช้วางของ เก็บเสื้อผ้า หรือของใช้ส่วนตัวของแต่ละคนเพื่อไม่ให้ปะปนกัน มีอุปกรณ์จัดแยกยาตามมื้ออาหารให้ผู้สูงอายุไม่สับสนในการทานยา
ห้องต่าง ๆ ภายในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Winest จะมีป้ายหรือสัญลักษณ์กำกับ เช่น ป้ายห้องน้ำ, ป้ายบอกทางเข้าห้องประชุม และป้ายทางหนีไฟ เป็นต้น
พื้นห้องน้ำที่ผู้สูงอายุต้องใช้งานเป็นประจำถูกออกแบบให้น้ำไหลลงท่อได้เร็ว ป้องกันพื้นลื่นลดความเสี่ยงในการหกล้ม ประตูทุกบานจะไม่มีธรณีประตูป้องกันการสะดุดล้มและเพื่อให้รถเข็นสามารถใช้งานได้สะดวก
ประตูด้านนอกศูนย์ที่ใช้เพื่อเข้าออกจะมีระบบล็อคต้องมีรหัสผ่านเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าออกศูนย์ได้ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่บริเวณนั้นเพื่อป้องกันผู้สูงอายุพลัดหลงเดินออกจากศูนย์
ประตูห้องน้ำเป็นแบบเลื่อนเพื่อให้คนอื่นสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้หากเกิดอุบัติเหตุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Winest มีลิฟท์ใช้งานเพื่อเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ก๊อกน้ำเป็นแบบก้านโยกเบาแรงในการเปิดใช้งาน
ประตูทุกบานมีความกว้างมากพอเพื่อให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่ต้องใช้รถเข็นสามารถเคลื่อยย้ายตัวได้สะดวก ห้องน้ำมีความกว้างขวางมีขนาดพื้นที่เพียงพอสำหรับหมุนหรือกลับรถเข็นภายในห้องน้ำได้และมีราวจับภายในห้องน้ำ
เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096
กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล
เอกสารอ้างอิง
สุชน ยิ้มรัตนบวร. (2018). การพัฒนาการออกแบบบ้านพักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยด้วยหลักการออกแบบสำหรับคนทุกวัย, The Design Development of Elderly Homes by Universal Design Guidelines. Journal of the Faculty of Architecture King Mongkut’s Institute of Technology Ladkrabang, 26(1), 173-188.
นิภาพรรณ เจนสันติกุล. (2022). การออกแบบเพื่อทุกคน: แนวคิดและลักษณะการออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ สูงอายุ. วารสาร มนุษยศาสตร์ และ สังคมศาสตร์ ม มร วิทยาเขต อีสาน, 3(2), 67-81.