หลานม่า หนังครอบครัวที่ทำคนดูร้องไห้กันทั่วหน้า สะท้อนชีวิตจริงแสนธรรมดาของผู้สูงอายุที่ต่อให้ใช้ชีวิตมาอย่างดีแค่ไหน ก็ถึงวันจะต้องพึ่งพาผู้อื่น
หลานม่า นำแสดงโดย บิวกิ้น รับบทเป็น เอ็ม เด็กหนุ่มที่เกิดในครอบครัวคนจีนทั่วไป
ครอบครัวชนชั้นกลางที่ต้องทำมาหากิน เด็กติดเกม ยังไม่มีงานทำ ชีวิตแสนธรรมดาของเอ็มและครอบครัวดำเนินไปตามปกติ จนกระทั่ง… อาม่า ผู้สูงอายุที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวในตระกูลตรวจพบอาการป่วยด้วยโรคร้ายแรงและอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน
ตามปกติแล้วหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุคงไม่ตกมาถึงรุ่นหลานอย่างเอ็มได้ง่าย ๆ แต่นั้นเพราะว่ารุ่นลูกของอาม่ายังคงง่วนอยู่กับการหาเงินเลี้ยงชีพ สร้างความมั่นคงให้ครอบครัวของตนเอง เอ็มผู้เป็นหลานม่าว่างงานจึงเสนอตัวรับหน้าที่ดูแลอาม่า แต่ด้วยเหตุผลอะไรนั้น ต้องลองไปดูกันต่อในหนัง
“อาม่าเหงาไหม อยู่คนเดียวมาตั้งหลายปี”
ตอนหนึ่งของหนัง เอ็มถามอาม่าด้วยความสงสัยแต่ก็เป็นประโยคที่แสดงถึงการเข้าอกเข้าใจผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าการที่เราสามารถดูแลตัวเองได้ อยู่ได้ด้วยตนเองยามแก่ ไม่เป็นภาระแก่ใคร แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่เหงา ความรู้สึกเหงาเกิดขึ้นได้เสมอกับผู้สูงอายุ
ในวัยที่ต้องเฝ้าดูลูกหลานแยกย้ายไปเติบโต ไปสร้างชีวิตของตนเอง
ในวัยที่ร่างกายและจิตใจอ่อนล้าไปตามกาลเวลา กำลังแรงใจถดถอยลง หวนนึกถึงวันเก่า ๆ ความเหงาจึงเปรียบเสมือนสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนกลายเป็นเพื่อนสนิทของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมักเฝ้ารอวันหยุดพิเศษตามวาระโอกาสทำให้ลูกหลานไม่มีข้ออ้างที่จะไม่มาเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุได้ เป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครอบครัว แต่วันสำคัญเหล่านี้เมื่อผ่านพ้นไปก็อาจกลายเป็นจุดเวลาหนึ่งที่สะท้อนใจผู้สูงอายุได้ว่าไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป
เหมือนอย่างที่อาม่าพูดกับเอ็มไว้ว่า “กูไม่ชอบวันตรุษจีน ลูกหลานกลับหมดต้องกินของในตู้เย็นคนเดียว”
เพราะอะไรลูกหลานจึงมักมีปากเสียงเมื่ออยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ ?
อาม่า “นกที่ตื่นเช้า คือนกที่หาหนอนกินได้ก่อน”
หลานม่า “หนอนที่ตื่นเช้าคือหนอนที่โดนนกกินตายก่อน หนอนที่ตื่นสายเลยรอด”
คำพูดติดตลกของอาม่าและหลานม่า บทสนทนาโต้กันแบบน่ารัก แต่ก็แสดงถึงชุดความคิดที่แตกต่างกันของคนต่างวัย Generation Gap หรือความแตกต่างระหว่างวัย จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุและลูกหลานยิ่งเหินห่างกันออกไปหากไม่ได้ทำความเข้าใจกันมากพอ
อาม่า ผู้สูงอายุ ที่เป็นคน Baby Boomer เชื่อว่าเราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาตนเอง อาม่าจึงยังคงตื่นเช้าไปขายโจ๊กในทุก ๆ วัน ในขณะที่หลานม่า เป็นเด็ก Generation Z เด็กยุคใหม่ที่ใส่ใจความสุขของตนเองเป็นหลัก ทดลองงานหลายรูปแบบ แต่ยังไม่ทำงานจริงจังเพราะยังไม่เจองานที่ใช่ การใส่ใจความรู้สึก คิดถึงในมุมมองของอีกฝ่าย มองข้ามคำพูดหรือการกระทำอาจที่ไม่ตรงใจเราบ้าง แบบที่เอ็มและอาม่าทำตอนอยู่ร่วมกัน เลยเกิดเป็นเรื่องราวน่ารักของอาม่าและหลานม่าที่อยู่ด้วยกัน ตื่นเช้า และเข้านอนไปพร้อม ๆ กันได้
ชีวิตจริงไม่ใช่ในหนัง ไม่ใช่หลานม่าทุกคนจะทำแบบเอ็มได้ เอ็มเป็นเพียงเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่บังเอิญยังว่างงาน เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่บังเอิญยังไม่ได้สร้างครอบครัวของตนเอง หลานม่าแบบเอ็มจึงมีสิ่งสำคัญ แบบที่หลานม่าคนอื่นไม่อาจมีให้ผู้สูงอายุได้ นั่นคือ “เวลา”
หลายครั้งที่เราได้ยินว่า การที่เราจะมีลูก ต้องเป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริง เป็นพ่อแม่เต็มเวลา การดูผู้สูงอายุก็เช่นกัน หลายคนอยากเป็น ลูกหลานเต็มเวลา ให้กับผู้สูงอายุ แต่ไม่สามารถทำได้
บางครอบครัวโดยเฉพาะครอบครัวเชื้อสายจีน ยังคงคาดหวังให้ลูกชายประสบความสำเร็จ คาดหวังให้ลูกสาวแต่งงานและกลับมาเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ด้วยสภาพสังคมปัจจุบัน การจะประสบความสำเร็จเหมือนรุ่นพ่อแม่อาจทำได้ยากขึ้น
ด้วยอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นในสังคมการทำงาน ไม่ว่าจะลูกชายหรือลูกสาวต่างยังคงต้องทำมาหากินจนไม่อาจมีเวลามาดูแลผู้สูงอายุได้ ทำให้ผู้สูงอายุมักต้องอยู่คนเดียว ยังคงต้องทำงานเลี้ยงตนเอง หรือใช้เงินเก็บที่สะสมมาทั้งชีวิตดูแลตนเอง
แต่การที่ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวกลับมีความเสี่ยงหลายอย่างที่เกิดขึ้นได้ เช่น การลื่นล้มที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายผู้สูงอายุ กระดูกพรุนข้อเข่าเสื่อม สายตาพล่ามัว หรือสภาพแวดล้อมภายในบ้านของผู้สูงอายุที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือแม้กระทั่งอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่หลอกหลวงทางโทรศัพท์ผู้สูงอายุอาจหลงเชื่อได้ง่ายเมื่อไม่มีใครคอยให้คำปรึกษา
ในหนัง หลานม่าแบบเอ็ม ดูแลอาม่าแบบตลอดเวลา ทั้งอาหารการกิน ช่วยอาบน้ำเช็ดตัวยามป่วยไข้ หรือพูดปลอบใจยามฝันร้าย เรียกได้ว่าดูแลครบจบในคนเดียว โดยการดูแลผู้สูงอายุสามารถแบ่งได้อย่างง่าย 2 อย่าง คือด้านร่างกายและด้านจิตใจ
อาม่าตรวจพบว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย มีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือการส่งเสริมให้อาม่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต
การเจ็บป่วยด้วยมะเร็งหรือโรคที่รักษาไม่หายมักมาพร้อมกับความเจ็บปวดทางร่างกายอย่างมาก การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดความทรมานจากโรค
หลายครั้งความกังวลของผู้สูงอายุคือการกลัวว่าตนเองจะต้องตายคนเดียวทำให้ยังมีห่วง ครอบครัวจึงต้องคอยสื่อสารพูดคุยถึงความเป็นไปของโรค การดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ครอบครัวจะช่วยให้ผู้สูงอายุจากไปอย่างสงบและหมดห่วง เพราะการรับรู้ว่าเวลาของชีวิตตนเองเหลืออยู่เท่าไหร่จะทำให้บุคคลยิ่งเห็นความสำคัญของชีวิตและทำบางอย่างเพื่อตอบสนองเป้าหมายของชีวิตตนเองมากขึ้น
ในหนังเมื่ออาม่าทราบว่าตนเองต้องจากไปในอีกไม่นาน แม้เป็นโรคที่รักษาไม่หายครอบครัวและอาม่าก็ได้วางแผนการรักษาร่วมกันกับทีมแพทย์ รวมถึงการจัดการทรัพย์สินให้ลูกหลานตามความต้องการของอาม่า ครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการทำตามความต้องการสุดท้ายของชีวิตผู้สูงอายุ
ในขณะที่ผู้ดูแลที่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุต้องเผชิญกับความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจเนื่องจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุโดยรู้อยู่แล้วว่าวันหนึ่งจะต้องจากไป ความผูกพันธ์ ความเศร้า ความเครียดก็มีมากมายไม่แพ้กับคนป่วย บทบาทผู้ดูแลที่ต้องเป็นตลอด 24 ชั่วโมงเป็นที่งานหนัก สร้างความเหนื่อยล้าทางกายและผลกระทบทางจิตใจของผู้ดูแลผู้สูงอายุและอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถรับบทบาทผู้ดูแลแทนญาติ เพราะในความเป็นจริงแล้วญาติของผู้สูงอายุมีหลายบทบาทหน้าที่ของตนเอง อาจไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้เต็มที่
“หลานม่า” หนังครอบครัวที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว หนังฉายให้เห็นภาพของผู้สูงอายุคนหนึ่งที่มีเวลาเหลืออีกไม่นาน ชี้ชวนให้ผู้ชมที่เป็นลูกเป็นหลานของผู้สูงอายุได้เข้าใจความรู้สึกนึกคิด มุมมองการใช้ชีวิตในช่วงเวลาสุดท้าย
หนังดำเนินเรื่องไปอย่างเรียบง่ายแต่เรียกน้ำตาได้จากความสัมพันธ์ของตัวละครอาม่าและหลานอาม่า ที่เริ่มต้นไปจนถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต แต่หากความเจ็บป่วยของผู้สูงอายุที่เรารักเกิดขึ้นจริงในชีวิตของใครหลายคน เราอาจไม่สามารถดูแลเป็นลูกหลานเต็มเวลาได้ เหมือนกับเอ็มในหนัง
ในหนังมีคำพูดอยู่ว่า “เราไม่ได้มาทำให้เขาเสียใจนะ เรามาทำให้เขามีความสุข” ทำให้ฉุกคิดได้อีกว่า ความสุขคือสิ่งสำคัญที่สุดในวาระสุดท้ายของชีวิต แต่หากเราผู้เป็นลูกหลานไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุด้วยตนเองได้ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ของชีวิต การค้นหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ดีต่อผู้สูงอายุและครอบครัว การจ้างผู้ดูแล หรือดูแลโดยศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของญาติ เพื่อการรักษา ดูแลผู้สูงอายุที่เรารักให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096
กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล