ภาวะหมดไฟในผู้ดูแลผู้สูงอายุ ทำอย่างไรดี

แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:
ผูู้ดูแลหญิงชาวเอเชียสีหน้าเหนื่อยล้า นั่งอยู่ปลายเตียงที่มีผู้สูงอายุหญิงนอนหลับอยู่

หัวข้อ

ภาวะหมดไฟในผู้ดูแลคืออะไร ?

ผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยนั้นมีความเสี่ยงต่อสภาวะจิตใจที่แย่ลงหรือที่เรียกว่า ภาวะหมดไฟในผู้ดูแล หรือ Caregiver Burnout เป็นภาวะที่ผู้ดูแลเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย สิ้นหวังทั้งกายและใจ มีความเครียดสะสมจากการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงมาเป็นเวลายาวนาน ส่งผลให้ผู้ดูแลมีปัญหากับสุขภาพตนเอง ดูแลตัวเองได้น้อยลง ไม่มีเวลาจัดการธุระของตนเอง ไม่มีเวลาเข้าสังคมหรือเบื่อหน่ายสังคม รู้สึกเหมือนแบกรับทุกอย่างไว้คนเดียว หงุดหงิดง่ายมากขึ้น 

สามีที่ต้องดูแลภรรยาที่เป็นผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียง มีสีหน้าหม่นหมอง เครียด

ซึ่งภาวะหมดไฟในผู้ดูแลนี้สามารถเกิดได้กับผู้ดูแลทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดูแลที่เป็นคู่สมรสของผู้ป่วย มีวิจัยชี้ว่าในผู้ดูแลเพศหญิงที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่เป็นคู่สมรสพบว่ามักมีแรงกดดันมากกว่าผู้ดูแลในรูปแบบอื่นๆ เนื่องจากเป็นทั้งบทบาทภรรยาและบทบาทผู้ดูแลร่วมกัน ผู้ดูแลมักเกิดความรู้สึกที่ต้องรับผิดชอบผู้ป่วยอยู่เพียงคนเดียว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะหมดไฟในผู้ดูแล หรือ Caregiver Burnout ได้มากกว่าการทำงานเป็นผู้ดูแลเพียงอย่างเดียว

โรคเรื้อรังที่อาจมีพฤติกรรมรบกวนผู้ดูแล เช่น โรคสมองเสื่อม (Dementia) ไม่สามารถจัดการชีวิตประจำวันด้วยตนเองได้จะยิ่งทำให้ผู้ดูแลเกิดภาวะหมดไฟได้ง่าย เนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างมาก บางรายมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับผู้ดูแลมากกว่าการดูแลผู้พิการทางร่างกายหรือผู้ป่วยติดเตียงเพียงอย่างเดียว

หญิงสาวสวมชุกครับสีฟ้าเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุหญิงที่นั่งอยู่บนรถเข็น

หากผู้ดูแลเป็นบุคคลอื่นก็ยังต้องแบกรับความกดดันจากหลายทิศทาง ทั้งจากญาติของผู้ป่วยหรือบุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เกิดเป็นความเครียด ความกังวลที่เห็นผู้สูงอายุหรือ ผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือผู้ดูแลไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ดีเท่าที่ญาติพอใจ รู้สึกกดดันเมื่อผู้สูงอายุมีอาการแย่ลง รวมไปถึงความเครียดจากปัญหาส่วนตัวของผู้ดูแลเอง เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดภาวะหมดไฟในผู้ดูแลได้มากขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ปัญหาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วน

อาการบ่งชี้ของภาวะหมดไฟในผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง

  • มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย พักผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ 
  • นอนน้อย หรือ นอนเยอะมากขึ้นกว่าปกติ 
  • มีอาการปวดหลัง หรือปวดศีรษะเรื้อรัง 
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน 
  • รู้สึกเครียด วิตกกังวลหรือหงุดหงิดตลอดเวลา
  • ขาดสมาธิ หลงลืมได้ง่ายแม้เป็นสิ่งที่ทำประจำ
หญิงเอเชียสวมเสื้อสครับสีเทา สวมถุงมือยาง และหน้ากากอนามัย นั่งหลับตาเอามือจับศรีษะยืดคอ

วิธีจัดการภาวะหมดไฟ หรือคำแนะนำสำหรับผู้ดูแล

การดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงเป็นงานที่ยากและท้าทายอย่างมากจึงมาพร้อมกับความเครียดสะสม บางครั้งผู้ดูแลใส่ใจดูแลผู้ป่วยมากจนลืมดูแลใส่ใจตนเอง งานดูแลผู้อื่นควรเริ่มจากการดูแลตนเองให้พร้อมทั้งกายและใจก่อนจึงจะสามารถดูแลผู้อื่นได้เต็มที่ ผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องหมั่นสังเกตอาการทางกายของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสม่ำเสมอ เช่น น้ำหนักเพิ่มหรือลดลงเร็ว เหนื่อยล้าคล้ายคนนอนไม่พอ หงุดหงิดง่ายขึ้น อาการเหล่าอาจเพราะเกิดจากภาวะหมดไฟโดยไม่รู้ตัว จึงควรปฏิบัติดังนี้

  1. จัดเวลาการนอน ผู้ดูแลต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ควรมีเวลานอนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง 
  2. จัดให้มีวันหยุดพักอย่างชัดเจน ในหนึ่งสัปดาห์ควรมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้สามารถจัดการธุระตนเอง ไปเที่ยวพักผ่อนได้หรือทำกิจกรรมที่ชอบได้
  3. ในระหว่างวันที่ดูแลผู้ป่วยควรมีเวลาพัก เช่น พักกลางวัน เพื่อให้ได้ใช้เวลาอยู่กับตนเอง
  4. เข้าใจอาการของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง เพราะอาการของผู้ป่วยอาจแย่ลงได้แม้จะดูแลอย่างเต็มที่แล้ว
  5. พูดคุยแบ่งปันความรู้สึกกับคนที่ไว้ใจ เป็นอีกวิธีหนึ่งในการจัดการความเครียด

1. ผู้ดูแลมีใบอนุญาติในการดูแลผู้สูงอายุ

ผู้ดูแลมีทักษะพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องตามกฎหมายกำหนดพร้อมทำงานอย่างเต็มที่ การมีความรู้พื้นฐานจะช่วยให้ผู้ดูแลเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง

2. ผู้ดูแลพักผ่อนเพียงพอ

มีการจัดเวรดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม มั่นใจได้ว่าผู้ดูแลได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

3. จำนวนผู้ดูแลเพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุ

จำนวนของผู้ดูแลที่เพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุ การจัดแบ่งหน้าที่ที่ชัดเจน สื่อสารพูดคุยกันถึงอาการปัจจุบันของผู้สูงอายุก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยลดความเครียดในการทำงาน

4. ผู้ดูแลอัพเดตความรู้สม่ำเสมอ

ให้การอบรมความรู้ตัวโรค การทำความเข้าใจผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงพื้นฐาน เพราะการที่ผู้ดูแลมีความเข้าใจธรรมชาติและโรคที่ผู้สูงอายุเป็นจะทำให้ผู้ดูแลมีความกังวลน้อยลง

5. อุปกรณ์ครบสะดวกต่อผู้ดูแล

จัดให้มีอุปกรณ์ช่วย สำหรับผู้ดูแลสามารถใช้เคลื่อนย้ายหรือทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุได้อย่างสะดวก เช่น เตียงที่ปรับระดับได้ ลิฟต์ รถล้อเข็น ไม้ค้ำยัน Walker ทางลาด เป็นต้น

6. สวัสดิการสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ

สวัสดิการอาหารและเครื่องดื่ม มีพื้นที่ผักผ่อนแยกจากพื้นที่การทำงาน เพื่อให้ผู้ดูแลได้บรรเทาความเครียด

7. ผู้ดูแลจัดกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุ

ส่งเสริมให้ผู้ดูแลทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้สูงอายุตามความสามารถที่ทำได้ เช่น เกมปาบอลลงตะกร้า วาดรูประบายสี กิจกรรมเรื่องเล่าที่ผู้สูงอายุชอบ เคลื่อนไหวร่างกายตามเพลง เป็นต้น การทำกิจกรรมร่วมกันจะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลและผู้สูงอายุช่วยผ่อนคลายความเครียดซึ่งกันและกันได้

ผู้ดูแลผู้สูงอายุจัดกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุวินเนสต์

สรุป

ภาวะหมดไฟในผู้ดูแลอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ดูแลทุกคน ผู้ดูแลต้องหมั่นรักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ และก็ต้องหมั่นเติมกำลังใจซึ่งกันและกันทั้งผู้ดูแลและผู้สูงอายุ รวมถึงบุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องจะช่วยลดปัญหาภาวะหมดไฟในการดูแลผู้สูงอายุลงไปได้

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

เอกสารอ้างอิง

1.     Chan, C. Y., Cheung, G., Martinez-Ruiz, A., Chau, P. Y., Wang, K., Yeoh, E. K., & Wong, E. L. (2021). Caregiving burnout of community-dwelling people with dementia in Hong Kong and New Zealand: a cross-sectional study. BMC geriatrics21, 1-15.

2.     Gérain, P., & Zech, E. (2019). Informal caregiver burnout? Development of a theoretical framework to understand the impact of caregiving. Frontiers in psychology10, 466359.

3.    นพ.ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง, ภาวะหมดไฟในผู้ดูแลผู้สูงอายุ ปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข. ศูนย์อายุรกรรมคลินิกผู้สูงอายุ โรงพยาบาลนครธน. [Internet]. [cited 30January 2024].

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down