วิธีการดูแล ป้องกัน แผลกดทับ

แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:

หัวข้อ

แผลกดทับเกิดจากอะไร ?

แผลกดทับเป็นอาการบาดเจ็บเฉพาะที่ โดยจะเกิดที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อข้างใต้ผิวหนัง มักเกิดในบุคคลที่มีการเคลื่อนไหวจำกัด เช่น ผู้ป่วยติดเตียงหรือใช้รถเข็นนั่ง ทำให้การขยับตัวหรือเคลื่อนไหวน้อยลง แผลกดทับนี้เกิดจากแรงกด การเสียดสีหรือแรงเฉือนที่สม่ำเสมอมากระทำเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้นลดลง เนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและขาดออกซิเจนไปเลี้ยง จึงเกิดการตายของเนื้อเยื่อที่ผิวหนังบริเวณนั้น ซึ่งแผลมักจะอยู่เหนือกระดูกที่นูนขึ้นมา เช่น สะโพก ส้นเท้า และกระดูกก้นกบ แผลกดทับอาจมีลักษณะตั้งแต่แบบรอยแดงเล็กน้อยไปจนถึงแผลเปิดรุนแรงที่ขยายไปสู่กล้ามเนื้อและกระดูกข้างใต้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ

แผลกดทับมักเกิดขึ้นเมื่อมีแรงกดทับบริเวณใดบริเวณหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้จำกัด แรงกดนี้ขัดขวางการส่งสารอาหารและออกซิเจนที่จำเป็นไปยังเซลล์ ทำให้เนื้อเยื่อเสียหายและเป็นแผลในที่สุด

1. แรงกดทับและเสียดสี :

เนื่องจากการกดทับเป็นเวลานานจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณนั้น ส่งผลให้เนื้อเยื่อเสียหาย การเสียดสีมักเกิดเมื่อผิวหนังเสียดสีกับพื้นผิวต่างๆ เช่น ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า หรือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงที่ใส่แพมเพิต หรือมีแรงเฉือนเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังและเนื้อเยื่อข้างใต้เคลื่อนไปในทิศทางตรงกันข้าม ส่งผลให้ชั้นเนื้อเยื่อแยกออกจากกัน 

2. ความชื้นจากเหงื่อหรือของเหลวในร่างกาย :

ความชื้นทำให้ผิวหนังอ่อนแอมากขึ้นจากการสูญเสียน้ำมันหล่อลื่นที่ผิวหนัง ความเปียกชื้นที่เกิดขึ้นเป็นเวลนานทำให้เนื้อเยื่อเปื่อย ผิวหนังถูกทำลายมากขึ้น มักเกิดในผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง

3. ผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ :

ผู้ป่วยหลายกลุ่มมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผิวหนังตามวัยและการไหลเวียนโลหิตที่ลดลง หรือผู้ป่วยติดเตียงที่มีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง เนื่องจากความเสียหายของเส้นประสาททำให้ความรู้สึกลดลง ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายและเปลี่ยนท่าทางได้ยาก ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดบกพร่องและการรักษาบาดแผลล่าช้า

5. ปัจจัยอื่นเพิ่มเติมที่อาจก่อให้เกิดแผลกดทับ :

เช่น ภาวะทุพชนาการที่ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวน้อยลง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้เกิดแผลกดทับได้ง่ายมากขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยตำแหน่งที่มักเกิดแผลกดทับ ได้แก่

– ท่านอนหงาย

หากผู้ป่วยนอนในท่านี้เป็นเวลานานจะเกิดแรงกดทับโดยบริเวณที่พบแรงกดสูงสุดคือท้ายทอย เหนือกระดูกก้นกบ กระดูกต้นขา

– ท่านอนตะแคง

หากผู้ป่วยนอนในท่านี้เป็นเวลานาน จะเกิดแรงกดทับโดยบริเวณที่พบแรงกดสูงสุดคือปุ่มกระดูกต้นขา

– ท่านั่ง

หากผู้ป่วยนั่งในท่านี้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้พิการที่ต้องใช้รถเข็น จะเกิดแรงกดทับโดยบริเวณที่พบแรงกดสูงสุดคือกระดูกอุ้งเชิงกราน

ระยะความรุนแรงของแผลกดทับ

แผลกดทับจะดำเนินไปเป็นระยะ ๆ โดยแต่ละระยะมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันในลักษณะผิวหนังและเนื้อเยื่อ มี 4 ระยะดังนี้:

แผลกดทับระยะที่ 1

ระยะที่เบาที่สุด ผิวหนังยังสมบูรณ์แต่มีลักษณะเป็นรอยแดงโดยผิวหนังบริเวณนี้จะพบความเจ็บปวดมีลักษณะอุ่นหรือร้อนกว่าผิวหนังข้างเคียงโดยรอบ

ระยะที่ 2

ผิวหนังแตกออก กลายเป็นแผลตื้นและมีอาการเจ็บปวด เนื่องจากมีการเสียหายของผิวหนังชั้น dermis ลักษณะพื้นผิวแผลจะมีสีแดงชมพู อาจมีลักษณะผิวหนังที่มีตุ่มพองน้ำที่มีน้ำเหลืองอยู่ข้างใน (serum-filled blister) บนผิวหนัง หรือมีการแตกของตุ่มพองน้ำ อาจจะพบพบเป็นแอ่งตื้นๆ เห็นเป็นมันวาวหรือแห้งและเนื้อเยื่อรอบๆ อาจแสดงอาการติดเชื้อ 

ระยะที่ 3

แผลจะลึกและขยายเข้าไปในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดแผลคล้ายหลุมอุกกาบาตและอาจมองเห็นไขมันได้แต่ไม่เห็นกระดูก เส้นเอ็น หรือกล้ามเนื้อ เนื่องจากมีการเสียหายของผิวหนังชั้น epidermis และ dermis และอาจถึงชั้น subcutaneous fat แต่จะไม่ถึงชั้นกล้ามเนื้อและกระดูก

ระยะที่ 4

ระยะที่รุนแรงที่สุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสูญเสียเนื้อเยื่ออย่างกว้างขวางและเผยให้เห็นกระดูก เส้นเอ็น หรือกล้ามเนื้ออาจมีเนื้อตายที่มีลักษณะเหนียว (slough) หรือเนื้อตายที่เป็นสะเก็ด (eschar) แผ่นหนาติดอยู่ที่ผิวแผล ความเสี่ยงในการติดเชื้อมีสูงและภาวะแทรกซ้อนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

แผลกดทับที่ไม่สามารถบอกระยะได้

มีการสูญเสียผิวหนังทั้งหมดโดยที่พื้นแผลทั้งหมดถูกคลุมไว้ด้วยเนื้อตายที่มีลักษณะเหนียว (Slough) สีเข้ม หรือ มีเนื้อตายที่เป็นสะเก็ดหนา (Eschar) สีดำเข้มทำให้ไม่สามารถเห็นแผลได้เมื่อถึงระยะนี้ควรต้องให้ผู้ป่วยรีบพบแพทย์เพื่อขูดผิวส่วนสีดำออกหรือมีอาการระยะของแผลกดทับที่แย่ลงก็ควรรีบพบแพทย์เช่นกัน

แนวทางการรักษาแผลกดทับ

การป้องกันเป็นพื้นฐานในการลดความเสี่ยงของแผลกดทับ โดยหากบ้านใดมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวได้น้อยลงควรหมั่นทำตามแนวทางป้องกันดังนี้

1. การพลิกตัวเปลี่ยนท่าทาง

การให้ผู้ป่วยติดเตียงได้ปรับเปลี่ยนท่าทางอย่างสม่ำเสมอถือเป็นสิ่งสำคัญในการลดการเกิดแผลกดทับ เพราะการเปลี่ยนท่าทางนี้จะกระจายแรงกดทับทำให้เลือดไหลกลับไปยังเนื้อเยื่อที่เสียหายได้ ผู้ป่วยที่มีความคล่องตัวจำกัดหรือผู้ป่วยติดเตียงควรเปลี่ยนตำแหน่งปรับท่าทางทุก ๆ 2 ชั่วโมง

2. การรักษาสุขอนามัย

ผิวหนังที่สะอาดมีแนวโน้มที่จะเกิดการเสียดสีลดลง จึงควรทำความสะอาดอย่างอ่อนโยนและให้ความชุ่มชื้นด้วยการทาครีมเพื่อลดการระคายเคือง เช่น ครีม 3M Cavilon จะช่วยรักษาความสมบูรณ์ของผิวหนังได้

แต่เมื่อเกิดแผลกดทับขึ้นแล้วผู้ป่วยยิ่งควรได้รับการจัดการดูแลแผลกดทับอย่างเหมาะสม ตั้งแต่ประเมินแผลกดทับการทำความสะอาดไปจนถึงผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลแผลกดทับ ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ แพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลผู้ป่วย โดยเน้นการดูแลแผลกดทับ ดังนี้

การดูแลแผลกดทับ

1. ทำความสะอาดและประเมินผิวหนัง

ทำความสะอาดผิวหนังเป็นประจำทุกวันและทุกครั้ง หลังการขับถ่ายปัสสาวะ และอุจจาระด้วยน้ำเปล่าหรือสบู่ที่มีค่า pH 5.5 ซับผิวหนังให้แห้ง เลี่ยงการขัดถูกแรง ๆ เพิ่มความชุ่มชื้นและปกป้องผิวหนังด้วยการทาครีมเพื่อลดการระคายเคือง เช่น ครีม 3M Cavilon หรือ วาสลีน เลี่ยงการใช้ผ้าอ้อม (blue pad) ที่ทำให้ผิวหนังอับชื้น

2. ใช้วัสดุปิดแผล

ปิดบริเวณปุ่มกระดูก เช่น ข้อศอก ตาตุ่ม และส้นเท้า เพื่อป้องกันการเสียดสีกับที่นอน

3. ใช้อุปกรณ์ลดแรงกดทับ (pressure relieving device)

เช่น การใช้เบาะรองนั่ง ที่นอนลมรองนอนเพื่อลดการกดทับของแผล ใช้หมอนหรือผ้ารองใต้น่องเพื่อให้ส้นเท้าลอยจากพื้นเตียงเนื่องจากส้นเท้าเป็นปุ่มกระดูกที่ทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่าย

4. การจัดท่าเพื่อลดแรงกด

จัดตารางเวลาเพื่อจัดท่าเปลี่ยนท่าทางผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง ใช้ผ้ารองตัวผู้ป่วยเมื่อต้องการยกตัว เลี่ยงการดึงตัวผู้ป่วยเพราะจะทำให้แผลเสียดสีกับที่นอนได้

– จัดท่านอนหงาย

ให้ผู้ป่วยนอนหงายตามปกติโดยให้จัดหาหมอนรองตามข้อของร่างกาย ได้แก่ ศีรษะ คอ ไหล่ เข่า และให้หาหมอนมาดันฝ่าเท้าให้ฝ่าเท้าตั้งฉาก

– จัดท่านอนตะแคง

ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงกึ่งหงาย ให้สะโพกเอียงทำมุม 30 องศากับที่นอน เพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดโดยตรงกับปุ่มกระดูกบริเวณไหล่และสะโพก หาหมอนรองบริเวณหลังและรองใต้น่อง

โดยสรุป การจัดท่าทางการนอนให้กับผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกต้องและหมั่นปรับเปลี่ยนท่าทางทุก 2 ชั่วโมงถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดประหยัดที่สุดและได้ผลดีที่สุดในการป้องกันและดูแลแผลกดทับและผู้ดูแลควรหมั่นประเมินแผลและทำความสะอาดแผลกดทับอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง

PRESSURE INJURY พว.นลินี แข็งสาริกิจ ET NURSE โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

บทความก่อนหน้า >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down