โภชนาการผู้สูงอายุ

แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:

การเป็นผู้สูงวัยมักพบอุปสรรคในการดำเนินชีวิตหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ เรื่องโภชนาการผู้สูงอายุ

การกินคือเรื่องใหญ่ แต่ทำไมถึงเป็นปัญหาในผู้สูงอายุ ?

หลายท่านที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุมักเจอปัญหาคล้ายกันคือ ผู้สูงอายุจะกินยาก ทานอะไรก็ไม่อร่อยเหมือนเดิม เบื่ออาหาร หรือบางรายอาจถึงขั้นกลืนอาหารลำบาก ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับโภชนาการผู้สูงอายุเหล่านี้ล้วนเกิดจากสาเหตุของการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อที่มีความสามารถในการเคี้ยวและการกลืน รวมไปถึงความสามารถในการย่อยอาหารของผู้สูงอายุลดลง

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่จำเป็นน้อยลง ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา อันเนื่องมาจากปัญหาโภชนาการผู้สูงอายุ เช่น ภาวะทุพโภชนาการ น้ำหนักลดลง และความเปราะบางของมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ ส่งผลถึงการเคลื่อนไหว การทรงท่าทาง และคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้สูงอายุ

ดังนั้นการศึกษาเรื่องโภชนาการผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นสำหรับผู้ดูแลและญาติของผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาโภชนาการผู้สูงอายุ

  1. มวลกล้ามเนื้อลดลง : เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อจะเริ่มสูญเสียมวลตามธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุเคี้ยวและกลืนอาหารได้ยากขึ้น
  2. การผลิตน้ำลายลดลง : น้ำลายช่วยหล่อลื่นอาหารและทำให้กลืนง่ายขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นแต่ผู้สูงอายุกลับผลิตน้ำลายน้อยลง ซึ่งทำให้กลืนอาหารได้ยากขึ้น
  3. การเปลี่ยนแปลงของรสชาติและกลิ่น : ระบบประสาทรับความรู้สึกของผู้สูงอายุมีเสื่อมลง ทำให้การรับรู้รสชาติและกลิ่นลดลงตามวัย ทำให้อาหารไม่น่ากินเหมือนเดิมและทำให้ผู้สูงอายุกินยากขึ้น
  4. ปัญหาเกี่ยวกับฟัน : เช่น การสูญเสียฟัน อาจทำให้เคี้ยวและกลืนอาหารได้ยาก
  5. ผลข้างเคียงของยา : ยาบางชนิดที่ผู้สูงอายุต้องทานเพื่อรักษาโรคประจำตัวอาจมีผลข้างเคียงที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการกินและย่อยอาหาร

ดังนั้นการจัดอาหารที่เหมาะสมจะสามารถช่วยส่งเสริมความสามารถในการเคี้ยวและส่งเสริมด้านโภชนาการผู้สูงอายุได้ ในบทความนี้จะกล่าวถึงสารอาหารที่จำเป็นที่ผู้สูงอายุควรได้รับ รวมถึงการบริหารเพื่อช่วยในการเคี้ยวและกลืน และการดูแลขั้นพื้นฐานด้านโภชนาการผู้สูงอายุ

สารอาหารที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมโภชนาการผู้สูงอายุ

สารอาหารที่เหมาะสมสำหรับโภชนาการผู้สูงอายุยังคงควรได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบทั้งห้าหมู่อาหารเพื่อชะลอความเสื่อมถอยของกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมไปถึงปัญหาระบบย่อยอาหาร แต่ควรลดอาหารประเภทไขมันและคาร์โบไฮเดรตลงเพราะให้พลังงานสูงเกินไป ผู้สูงอายุชายและหญิงต้องการพลังงานเฉลี่ยประมาณ 1,600 กิโลแคลอรี/วัน

อาหารหลากหลายชนิดครบ 5 หมู่

สารอาหารที่เหมาะสมสำหรับโภชนาการผู้สูงอายุที่ควรได้รับ ได้แก่

  1. โปรตีน : ร่างกายของผู้สูงอายุยังคงต้องการโปรตีนมากขึ้นเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อและป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อ แหล่งโปรตีนที่ดี ได้แก่ เนื้อไม่ติดมัน สัตว์ปีก ปลา ไข่ ถั่ว และพืชตระกูลถั่ว
  2. แคลเซียมและวิตามินดี : สารอาหารเหล่านี้จำเป็นต่อการรักษาสุขภาพกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุน อาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม และปลา
  3. ไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหาร : การบริโภคไฟเบอร์ที่เพียงพอสามารถช่วยป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ แหล่งไฟเบอร์ที่ดี ได้แก่ ผลไม้ ผัก เมล็ดธัญพืช และถั่ว
  4. วิตามินและแร่ธาตุ : ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณที่เพียงพอ เช่น วิตามินบี 12 โฟเลต ธาตุเหล็ก และสังกะสี สารอาหารเหล่านี้สามารถพบได้ในอาหารหลากหลายชนิด รวมทั้งผลไม้ ผัก เมล็ดธัญพืช และแหล่งโปรตีนที่ไขมันต่ำ
  5. น้ำ : มีความสำคัญต่อร่างกายมากช่วยให้ระบบย่อยอาหารและช่วยการขับถ่ายของเสียส่วนมากผู้สูงอายุจะดื่มน้ำไม่เพียงพอ ดังนั้น ผู้สูงอายุควรดื่มน้ำประมาณ 6 – 8 แก้ว เป็นประจำทุกวัน

เรื่องโภชนาการผู้สูงอายุนั้นสิ่งสำคัญคือรูปแบบของอาหาร วิธีการทำอาหารและวิธีการทานอาหารของผู้สูงอายุ อาหารของผู้สูงอายุควรเคี้ยวได้ง่าย จะช่วยให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารและย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น ได้แก่

  1. อาหารอ่อนนุ่ม : เช่น มันฝรั่งบด ไข่ตุ๋น โยเกิร์ต ซุป ข้าวต้ม ปลานึ่ง จัดเป็นอาหารที่นุ่ม เคี้ยวและกลืนได้ง่าย
  2. การตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ : จะช่วยให้ผู้สูงอายุเคี้ยวและกลืนได้ง่ายขึ้น
  3. การตัดไขมันและหนังออกจากเนื้อสัตว์ : ไขมันและหนังอาจเคี้ยวและกลืนได้ยาก ดังนั้นจึงควรเล็มออกจากเนื้อสัตว์ก่อนปรุงอาหาร
  4. หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด : อาหารรสเผ็ดสามารถระคายเคืองต่อปากและคอ เสี่ยงต่อการสำลักในผู้สูงอายุ
  5. หลีกเลี่ยงอาหารแห้งและแข็ง : อาหารแห้งและแข็งจะเคี้ยวและกลืนได้ยาก รวมถึงย่อยได้ยากเช่นกัน
  6. อาหารควรอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม : อาหารที่ร้อนหรือเย็นเกินไปอาจทำให้ผู้สูงอายุเคี้ยวและกลืนได้ยาก
  7. การกัดคำเล็ก ๆ : ผู้ดูแลควรหั่นอาหารหรือกระตุ้นให้ผู้สูงอายุกัดคำเล็ก ๆ จะทำให้เคี้ยวและกลืนอาหารได้ง่ายขึ้น
  8. การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด : การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดสามารถช่วยให้อาหารแตกตัวและทำให้กลืนง่ายขึ้น
  9. กลืนอาหารช้า ๆ : การกลืนอาหารช้า ๆ สามารถช่วยป้องกันการสำลักได้ ซึ่งการสำลักถือเป็นอันตรายมากในผู้สูงอายุ จึงควรป้องกันมิให้เกิดขึ้น เพราะการสำลักอาหารทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้

ดังนั้นเพียงแค่การเลือกสารอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการด้านพลังงานในผู้สูงอายุ รวมถึงปรับวิธีการทำอาหาร ปรับให้อาหารมีความอ่อนนุ่มเคี้ยวง่าย กระตุ้นให้ผู้สูงอายุทานอาหารช้า ๆ และคำเล็กลง เพียงเท่านี้ก็เป็นการส่งเสริมโภชนาการผู้สูงอายุในเบื้องต้นแล้ว

การบริหารกล้ามเนื้อที่ช่วยในการเคี้ยวกลืน เพื่อส่งเสริมโภชนาการผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุจะพบการเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินอาหารเนื่องจากอายุที่มากขึ้น เกิดภาวะกลืนลำบากได้ส่งผลต่อปัญหาโภชนาการผู้สูงอายุ การบริหารกล้ามเนื้อในการกลืนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมให้อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการกลืนทำงานได้ดีขึ้น ท่าทางการบริหารมีดังนี้

1. บริหารกล้ามเนื้อคอและไหล่

ท่าที่ 1 ก้มศีรษะและเงยขึ้นช้า ๆ ทำ 3-5 ครั้ง แต่ละท่าค้างไว้ 5 วินาที 

บริหารกล้ามเนื้อ ท่าก้มหน้า
บริหารกล้ามเนื้อ ท่าเงยหน้าตรง

ท่าที่ 2 หันศีรษะไป ซ้าย ขวา ทำซ้ำ 5 ครั้ง

บริหารกล้ามเนื้อคอและไหล่ท่าหันซ้าย
บริหารกล้ามเนื้อคอและไหล่ท่าหันขวา

ท่าที่ 3 ยกไหล่ขึ้น-ลง 2 ข้างพร้อมกัน ทำซ้ำ 5 ครั้ง

ท่ายกไหล่ขึ้น
ท่าหน้าตรงไหล่ปกติ

2. บริหารกล้ามเนื้อปาก

ท่าที่ 1 ยิ้มเหยียดริมฝีปากจนสุดและหุบปาก ค้างไว้ 5 วินาที แล้วปล่อย ทำซ้ำ 5 ครั้ง

ท่าบริหารกล้ามเนื้อปากโดยฉีกยิ้มสุด

ท่าที่ 2 ออกเสียง “อา” ค้างไว้ 5 วินาที แล้วปล่อย ทำซ้ำ 5 ครั้ง

ท่าอ้าปากกว้างบริหารกราม

ท่าที่ 3 ออกเสียง “อี” สลับ “อู” ทำซ้ำ 5 ครั้ง

ออกกำลังกายปากโดยฉีกยิ้มออกเสียงอี
บริหารปากในท่าปากหุบออกเสียงอู

3. บริหารลิ้น

ท่าที่ 1 แลบลิ้นเข้าและออกตรง ๆ ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง

บริหารลิ้น แลบลิ้นยาว

ท่าที่ 2 ย้ายลิ้นไปกระพุ้งแก้มซ้ายและขวาค้างไว้ข้างละ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง

ออกกำลังกายลิ้นดันกระพุ้งแก้มด้านขวา
ลิ้นดันกระพุ้งแก้มซ้าย

ท่าที่ 3 เอาลิ้นแตะมุมปากซ้ายและขวา ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง

ท่าลิ้นแตะมุมปากขวา
ออกกำลังกายลิ้นแตะมุมปากซ้าย

4. บริหารขากรรไกร

ท่าที่ 1 อ้าปากค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง

บริหารขากรรไกรอ้าปากกว้าง

ท่าที่ 2 ขยับขากรรไกรไปด้านซ้ายและขวา ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง

ออกกำลังกายโดยขยับขากรรไกรด้านซ้าย
ออกกำลังกายโดยขยับขากรรไกรด้านขวา

5. บริหารกล้ามเนื้อใต้คาง

ท่าที่ 1 ให้นำลูกบอลนิ่มหรือม้วนกระดาษชำระ มาวางใต้คางและให้ผู้ป่วยหนีบลูกบอลเอาไว้ โดยไม่ต้องใช้มือจับ

หนีบลูกบอลใต้คางเพื่อบริหารกล้ามเนื้อ

ท่าที่ 2 ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างวางใต้คาง อ้าปากดันสู้กับนิ้วหัวแม่มือเกร็งค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง

นิ้วโป้งดันใต้คางเพื่อออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อ

ผู้ที่มีอาการกลืนลำบาก เช่น กลืนยากเหมือนมีอาหารติดคอ มีไอ สำลักหรือเสียงเปลี่ยนขณะกินอาหารหรือน้ำ น้ำไหลออกปากบ่อย ๆ เกิดปอดอักเสอหรือติดเชื้อบ่อย ๆ หากมีอาการเหล่านี้ อาจสงสัยว่าผู้สูงอายุกำลังเผชิญกับภาวะกลืนลำบาก จึงควรพบแพทย์เพื่อประเมินเรื่องโภชนาการผู้สูงอายุ และฝึกกระตุ้นการกลืนกับนักกิจกรรมบำบัดและนักแก้ไขการพูด เพื่อฝึกท่าทางการบริหารเพิ่มเติมและเจาะจงเฉพาะบุคคลให้มากขึ้นนอกเหนือจากบทความนี้

กรณีผู้สูงอายุสำลัก อาหารติดคอ มีวิธีช่วยดังนี้ > วิธีช่วยผู้สูงอายุสำลักอาหาร

การดูแลโภชนาการผู้สูงอายุของ Winest

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Winest ตระหนักและใส่ใจด้านโภชนาการผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการทานอาหารส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของมนุษย์ และยิ่งในผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการกลืนที่เสื่อมลงตามวัย รวมไปถึงโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการทานอาหารย่อมทำให้ความสุขในชีวิตลดลงอย่างมาก ดังนั้นการตรวจประเมินและให้การบำบัดฟื้นฟูอย่างถูกต้องจำเพาะกับผู้สูงอายุเป็นรายบุคคลจึงจำเป็นอย่างมาก ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Winest มีนักกิจกรรมบำบัดที่สามารถตรวจประเมิน ภาวะกลืนลำบากและบำบัดฟื้นฟูด้านการกลืน จัดเตรียมรูปแบบของอาหารให้เหมาะสมกับความสามารถในการทานอาหารของผู้สูงอายุแต่ละราย เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุกลับมาทานอาหารและมีความสุขกับการกินได้อีกครั้ง รวมไปถึงในบางรายที่ต้องให้อาหารทางสายยาง จะได้รับการดูแลโดยพยาบาลและเจ้าหน้าที่บริบาลตลอดมื้ออาหารเพื่อความปลอดภัย และป้องกันภาวะขาดน้ำและสารอาหารเหมาะสำหรับโภชนาการผู้สูงอายุ

เพราะการกิน คือ ความสุขของทุกคน

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

เอกสารอ้างอิง
คู่มือการฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก กลุ่มวิจัยภาวะกลืนลำบาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทความก่อนหน้า >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down