เมื่อเข้าสู่อายุ 60 ปี กลุ่มคนในช่วงวัยนี้ส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนผ่านจากวัยทำงานเข้าสู่วัยเกษียณ สำหรับประเทศไทยกำหนดอายุ 60 ปีเป็นเกณฑ์เกษียณอายุสำหรับข้าราชการ และใช้เป็นเกณฑ์ให้ลูกจ้างที่อายุครบ
60 ปีขึ้นไปสามารถแสดงเจตนาเกษียณอายุตามกฎหมายได้ เราจึงมักเรียกกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปว่า
“วัยเกษียณ” และจากที่องค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามของบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปว่าเป็น “ผู้สูงอายุ”
ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจะขออนุญาตเรียกวัยเกษียณว่าเป็นผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมักจะมีความเสื่อมตามช่วงวัย โดยเฉพาะปัญหาด้าน ความจำ เนื่องจากสมองมีการประมวลผลที่ช้าลง มีการถดถอยทางด้านสติปัญญาและการรับรู้ รวมถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป จากการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยเป็นวัยเกษียณ ซึ่งอาจส่งผลทำให้กลุ่มคนในช่วงวัยนี้มีเวลาว่างมากขึ้น บางคนขาดการทำกิจกรรม อยู่ว่าง ๆ และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ ปัจจัยนอกเหนือจากนี้ เช่น ระดับการศึกษา ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ มีประวัติซึมเศร้า หรือการมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น
ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่ส่งผลต่อความจำ การคิด การรับรู้ การใช้เหตุผล และการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตต่าง ๆ ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในระยะแรกอาจสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง แต่ก็จะเกิดความผิดพลาดเพิ่มขึ้น ใช้เวลานานมากขึ้น ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวันลดลง และหากมีการดำเนินโรคที่สูงขึ้นไปก็จะส่งผลทำให้กิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว หรือกิจวัตรประจำวันขั้นสูง เช่น การคิดคำนวณเงิน การซื้อของ การทานยา และด้านอื่น ๆ ทำได้อย่างยากลำบากหรือไม่สามารถทำได้
ในผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยทำกิจกรรม อยู่บ้านเฉย ๆ ครอบครัวหรือผู้ดูแลมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมด้านต่าง ๆ ได้แก่ กิจวัตรประจำวัน กิจกรรมยามว่าง การพักผ่อน การเข้าสังคม นอกจากการสนับทางกายแล้ว ควรครอบคลุมถึงการสนับสนุนทางด้านจิตใจและสังคมด้วย หากผู้สูงอายุ ครอบครัวและผู้ดูแลมีความเข้าใจ มีวิธีการดูแลและเตรียมพร้อมที่ดีในการรับมือกับภาวะสมองเสื่อมก็อาจทำให้สามารถช่วยชะลอหรือป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
ในหัวข้อถัดไปผู้เขียนจะขอนำเสนอวิธีการป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
อาหารเป็นรากฐานของสุขภาพที่แข็งแรงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ
ตามคำกล่าวที่ว่า “You are what you eat.” หรือ “กินอะไรก็ได้อย่างนั้น”
ผู้สูงอายุควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นทานอาหารที่มีไขมันดี และมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อปลา ธัญพืชไม่ขัดสี เนื่องจากมีผลการวิจัยที่ชี้ว่าการทานอาหารกลุ่มนี้ (mediterranean diet) จะช่วยลดภาวะการเสื่อมถอยของร่างกายและภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้ผู้สูงอายุควรดื่มนมที่มีไขมันต่ำหรือนมพร่องมันเนย ลดการทานเนื้อแดง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
การออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมทางกายมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะสมองเสื่อม กล่าวคือ หากออกกำลังกายสามารถทำให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมลดลงได้ โดยผู้ที่มีกิจกรรมทางกายจะมีโอกาสเกิดความเสื่อมน้อยกว่าผู้ที่ไม่มีกิจกรรมทางกาย เนื่องจากพบว่าการออกกำลังกายส่งผลทำให้สมองมีการทำงานได้ดีขึ้น และสมองสามารถประมวลผลได้ดี
การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุที่แนะนำ ควรเป็นการออกกำลังกายแบบหนักปานกลาง (moderate intensity exercise) เช่น การเดิน, การใช้ยางยืดหรือการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน, การยืดเหยียด, รำมวยจีน, เต้นแอโรบิก เป็นต้น อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงสภาพร่างกายของผู้สูงอายุแต่ละคนด้วย
ประโยชน์ของการออกกำลังกายนอกเหนือจากช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมทักษะความสามารถทางด้านร่างกาย ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน กระดูกหัก การพลัดตกหกล้ม และช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตใจให้มีความสุขได้อีกด้วย
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะสมองเสื่อมคือการอยู่ว่าง ๆ ไม่มีกิจกรรมทำ และขาดการเข้าสังคม ดังนั้นหากมีการวางแผนเกษียณที่ดี มีกิจกรรมยามว่าง มีการจัดตารางเวลาในแต่ละวันหรือสัปดาห์ และมีการพบปะสังสรรค์หรือออกไปพบเจอผู้คนบ้างก็จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ ตัวอย่างกิจกรรมยามว่างที่น่าสนใจสำหรับผู้สูงอายุ เช่น กิจกรรมท่องเที่ยว, ร้องเพลง, เต้นรำ, ปลูกต้นไม้, ถักโครเชต์, ทำอาหาร, เกมกระดาน เป็นต้น
การฝึกบริหารสมอง หรือฝึกทักษะการรู้คิดเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม โดยคนในครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุได้ กิจกรรมฝึกบริหารสมอง เช่น กิจกรรมหมากกระดาน, กิจกรรมต่อจิ๊กซอว์, การบวกลบเลขในชีวิตประจำวันเวลาออกไปจ่ายตลาด, การเขียนหรือพูดทวนวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารที่เคยทำ (ผัดกะเพรา; หมูสับ, ใบกะเพรา, พริก, กระเทียม), การสรุปเนื้อหาจากข่าวหรือภาพยนต์ที่ดู เป็นต้น และควรให้ผู้สูงอายุมีการทำซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอ
อีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ก็คือท่าบริหารสมอง หรือ Brain gym เป็นการช่วยให้สมองทั้งสองข้างทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นและชาวยพัฒนาความจำ ท่าที่แนะนำ ได้แก่ ท่าโป้ง-ก้อย โดยทำสลับไปมาระหว่างมือทั้งสองข้าง โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการทำ Brain gym เพิ่มเติมได้ที่
https://images.app.goo.gl/rDssPR3pYEXRyBC3A
หากผู้สูงอายุหรือสมาชิกในครอบครัวสังเกตเห็นว่าผู้สูงอายุเริ่มมีอาการหลงลืม มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หรือมีความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันลดลง อาจจำเป็นต้องได้รับการประเมินภาวะสมองเสื่อมกับแพทย์หรือบุคคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางด้วยแบบทดสอบเพื่อคัดกรองเบื้องต้นว่าผู้สูงอายุเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมระยะแรกหรือไม่ เพื่อให้ทราบและหากมีภาวะสมองเสื่อมก็จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุเข้ารับการบำบัดรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดการพัฒนาของภาวะสมองเสื่อมไปสู่ระยะที่สูงขึ้น
สรุป
ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันในทุกด้าน การมีความพร้อมในการรับมือเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม ทั้งการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ฝึกบริหารสมอง และเข้ารับการตรวจประเมินคัดกรองเบื้องต้น ทำให้สามารถช่วยลดภาวะพึ่งพิงให้กับครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดี เข้าสู่วัย “เกษียณ” ได้อย่าง “เกษม”
เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1763
กบ.กันต์ นิมิตรประเสริฐ
อ้างอิง