9 ข้อควรทำหลังการผ่าตัด

แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:
  • บริหารร่างกาย ขยับตัวบ้าง ช่วยลดระยะเวลาการนอนเตียง
  • การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด ความสะอาดสำคัญที่สุด
  • การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดคือสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วย

หัวข้อ

การผ่าตัดเป็นหัตถการทางการแพทย์ที่สำคัญที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยหนักได้ แต่ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูทั้งด้านร่างกายและด้านอารมณ์จิตใจ การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เช่น การอาบน้ำ การแต่งตัวและการรับประทานอาหาร เพื่อให้ผู้ป่วยค่อย ๆ ปรับตัวเข้ากับความเป็นจริงในรูปแบบใหม่ พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงหลังการผ่าตัด

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ให้ผู้ป่วยมีความสุขสบายทางร่ายกาย อาการเจ็บปวดหลังการผ่าตัดลดลง ช่วยให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น ลดความวิตกกังวลของทั้งผู้ป่วยและครอบครัว

วันนี้ทีมศูนย์ดูแลผู้สูงอายุวินเนสต์จึงตั้งใจมาแชร์วิธีการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด เพื่อช่วยให้ผู้ดูแลเข้าใจและสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

9 ข้อควรทำในการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด

ในช่วงแรกของการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด ควรมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด ได้แก่ เตียงนอนพร้อมไม้กั้นเตียง หมอน ผ้าห่ม อุปกรณ์ในการวัดสัญญาณชีพ อุปกรณ์อื่น ๆ ตามความจำเป็น เช่น อุปกรณ์ในการดูดเสมหะ แผ่นรองช่วยเคลื่อนย้ายตัว อุปกรณ์ในการให้ออกซิเจน เป็นต้น

สิ่งสำคัญของ การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด คือ ผู้ดูแลควรคำนึงถึงความสะอาดเป็นสำคัญ โดยต้องหมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอทั้งก่อนและหลังการสัมผัสผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ รวมไปถึงดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นคืนกลับสู่วิถีชีวิตปกติได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

1. ตรวจประเมินสัญญาณชีพ

แน่นอนว่าการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดควรมีการตวรจดูค่าต่าง ๆ ของร่างกายอยู่เสมอ ได้แก่ ตรวจวัดความดัน การหายใจ และการเต้นของชีพจร การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดควรควบคุมอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วยให้อยู่ในระดับปกติ ไม่ให้ต่ำจนเกินไปด้วยการห่มผ้าห่ม เพราะอุณหภูมิร่างกายที่ต่ำเกินไปจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ลดลง

จัดท่าทางการนอนบนเตียงให้เหมาะสมตามโรคของคนไข้ ตรวจประเมินค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดโดยใช้เครื่องวัดที่ปลายนิ้ว ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยทั่วไปควรมีค่าไม่ต่ำกว่า 95 %  ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการดูดเสมหะเพื่อป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจ

2. เฝ้าระวังอาการผิดปกติหลังผ่าตัด

ความสะอาดคือสิ่งสำคัญสำหรับการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด ดังนั้นผู้ดูแลจึงควรดูแลแผลผ่าตัดอยู่เสมอ ตรวจสอบอาการผิดปกติของร่างกายหลังการผ่าตัด สังเกตสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น รอยแดง บวม หรือเจ็บปวด นอกจากนี้ ให้สังเกตสัญญาณของการมีเลือดออก เช่น เลือดบนผ้าปิดแผล หรือมีเลือดในปัสสาวะหรืออุจจาระของผู้ป่วย หากสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ให้ติดต่อแพทย์ของผู้ป่วยทันที

3. ปรับการทำกิจวัตรประจำวัน

ช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เพราะหลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำได้ ผู้ป่วยอาจต้องการความช่วยเหลือในการอาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร และการใช้ห้องน้ำ การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดจึงหมายรวมถึง การมีผู้ดูแลคอยช่วย ปรับวิธีการทำกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม และสอดคล้องกับผู้ป่วย

4. ฟื้นฟูเร็ว ฟื้นตัวไว

ใครว่าหลังผ่าตัดแล้วควรอยู่นิ่งๆ นั่นไม่ใช้สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง วิธีการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ ควรกระตุ้นให้เคลื่อนไหว ในผู้ป่วยที่ยังต้องนอนอยู่บนเตียง ควรได้รับการพลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ ป้องกันการเกิดปอดแฟบ ปอดอักเสบ และการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน รวมถึงกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้

หากเริ่มเคลื่นไหวได้มากขึ้นควรใช้การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยตื่นตัวอยู่เสมอ เพราะผู้ป่วยหลังผ่าตัดควรเคลื่อนไหวร่างกาย การเคลื่อนไหวจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวขึ้น โดยกระตุ้นให้ผู้ป่วยเดินช้าๆ ให้ได้มากที่สุด

หากได้รับการผ่าตัดที่ขาหรือผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง ให้ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น วอล์คเกอร์หรือไม้ค้ำ หรืออยู่ภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด

5. จัดการความเจ็บปวด หลังการผ่าตัด

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเกิดขึ้นได้ จึงควรได้รับการดูแลโดยพยาบาล หรือญาติที่จะคอยช่วย ดูเรื่องการใช้ยาระงับปวดตามแพทย์สั่ง หรือการทำกายภาพบำบัดเพื่อการผ่อนคลายความเจ็บปวด ช่วยผู้ป่วยค้นหาแผนการจัดการความเจ็บปวดที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย

6. ดูแลใจของผู้ป่วย

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจรู้สึกกลัว วิตกกังวล หรือซึมเศร้า จากอาการเจ็บปวดหรือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการผ่าตัด ญาติหรือผู้ดูแลควรอยู่เคียงข้างเพื่อคอยให้กำลังใจและรับฟังช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลและทำให้ผู้ป่วยรู้ว่ามีคนอยู่เคียงข้าง

7. อาหารดี ฟื้นตัวดี

กระตุ้นให้ผู้ป่วยได้กินอาหารที่มีประโยชน์ กระตุ้นให้กินผลไม้ ผัก และอาหารที่ให้วิตามินและโปรตีนแก่ร่างกายให้มากๆ ดื่มน้ำสะอาด แนะนำการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรคของผู้ป่วย และทานอาหารที่ส่งเสริมการหายของแผล ได้แก่ โปรตีน ที่มีอยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม และไข่ รวมถึงถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น โปรตีนจะช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้เซลล์แต่ละเซลล์ประสานยึดติดเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูเต็มที่หลังการผ่าตัด

8. นอนให้พอ

จ้ดสถานที่ให้สบายและสร้างบรรยากาศที่สงบในตอนกลางคืน เพื่อให้ผู้ป่วยได้นอนหลับเพียงพอ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องนอนหลับพักผ่อน 8-10 ชั่วโมงในแต่ละคืนเพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

9. กระตุ้นให้ทำกิจกรรมเท่าที่ทำได้

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดไม่เพียงแต่คำนึงถึงแผลผ่าตัดเท่านั้นแต่เมื่อผู้ป่วยพ้นระยะวิกฤตแล้ว ก็ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยกลับไปทำกิจกรรมตามปกติ เมื่อผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัว ควรให้กำลังใจและกระตุ้นให้เริ่มกลับไปทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง เช่น การอาบน้ำแปรงฟัน การใส่เสื้อผ้าด้วยตนเอง รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำได้ เช่น การทำงานอดิเรก การทำงานตามหน้าที่ การเข้าสังคม เป็นต้น

โดยต้องเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป สนับสนุนให้ผู้ป่วยอดทนและกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมเท่าที่ทำได้ โดยไม่กดดันมากเกินไป หรืออยู่ภายใต้การดูแลของนักกิจกรรมบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูการทำกิจวัตรประจำวันให้ได้ดังเดิม

ข้อควรระวังในการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด

1. การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความสะอาด การล้างมือบ่อยๆ คือสิ่งที่ผู้ดูแลสามารถทำได้อย่างง่ายๆเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค โดยล้างมือตามขั้นตอนด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างน้อย 20 วินาที ก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย

2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบาดแผลของผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

3. เปลี่ยนชุดผู้ป่วยตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล หากผู้ป่วยมีผ้าปิดแผล ให้เปลี่ยนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ วิธีนี้จะช่วยให้แผลสะอาดและแห้ง

4. การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ทางแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อผลดีของตัวผู้ป่วยเอง

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดของWinest

การผ่าตัด ถือเป็นกระบวนการรักษาที่สำคัญมากต่อตัวผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดอันเกิดจากอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัดจากโรค แต่กระบวนการที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด ทั้งการรักษาแผลผ่าตัด การฟื้นฟูสภาพร่างกายเพื่อให้กลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้มากที่สุด ภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมไปถึงรักษาเยียวยาใจเมื่อผู้ป่วยต้องเผชิญกับสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนเดิมหลังการผ่าตัด

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด จึงมักมีช่วงเวลาหลังการผ่าตัดที่เรียกว่า ช่วงเวลาทอง (Golden period) อย่างเช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke ในช่วง 3-6 เดือนหลังการผ่าตัด เมื่อพ้นช่วงระยะเวลาวิกฤตไปแล้ว นั่นคือช่วงเวลาที่ผู้ป่วยจะสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วที่สุด

ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดจึงควรเร่งกระตุ้น ให้การฟื้นฟูอย่างเต็มรูปแบบ หากไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม เมื่อผ่านช่วงเวลาทองไปแล้ว ผู้ป่วยอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดของศูนย์ดูแลผู้ป่วย Winest มีทีมแพทย์ พยาบาล ทำงานร่วมกับ ทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักแก้ไขการพูด และแพทย์แผนจีน ที่สามารถดูแลผู้ป่วยเฉพาะรายบุคคล จัดโปรแกรมการฝึกที่เหมาะสมกับแต่ละโรค มีเจ้าหน้าที่บริบาลดูแลการใช้ชีวิตภายในศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

เอกสารอ้างอิง

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด (Postoperative care) https://home.kku.ac.th/nurse/index.php/download/category/48-2019-09-26-03-18-17

บทความก่อนหน้า >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down