“7 สิ่งที่ต้องเตรียม เพื่อรับมือคนในครอบครัวเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง”

แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:
  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องมีครอบครัวหรือผู้ดูแลให้การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในระยะยาว (long-term care)
  • ให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของผู้ป่วยในระยะแรกของการฟื้นตัว
  • การเตรียมพร้อมรับมือผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง 7 ข้อ
  • การเลือกศูนย์ฟื้นฟูที่มีคุณภาพ

หัวข้อ

รู้จักโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)

โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความพิการและการเสียชีวิตที่สำคัญทั่วโลก แต่หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงก็อาจช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต และลดผลกระทบอาการของโรคได้ ดังนั้นการสังเกตอาการและนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วจึงเป็น
สิ่งสำคัญ

อย่างไรก็ตามแม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาแล้วบางรายอาจมีอาการหรือความผิดปกติบางอย่างหลง
เหลืออยู่ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดไม่ชัด ปัญหาด้านการรู้คิด ความจำ ความเครียด หรือซึมเศร้า อาการเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการกำเนินชีวิตอย่างที่เคยทำได้หรือทำได้อย่าง
ยากลำบากส่งผลให้ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองต้องมีครอบครัว หรือผู้ดูแลให้การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในระยะ
ยาว (long-term care)

ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองดูแลอย่างไร

ระยะแรกของการฟื้นตัวครอบครัวควรให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของผู้ป่วยรวมถึงสภาพจิตใจ
ของสมาชิกในครอบครัวเองเป็นสำคัญ กำลังใจจากคนรอบข้างจะช่วยให้ผู้ป่วยมีแรงใจ และผ่านช่วงเวลาที่ยาก
ลำบากไปได้

การดูแลผู้ป่วยให้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นในผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวเองได้ จำเป็นต้องให้ครอบครัวหรือญาติช่วยจัดท่าทางการนอนบนเตียงและเปลี่ยนท่านอนทุก ๆ  2 ชั่วโมงเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับคอยสังเกตอาการและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

*เพิ่มรูปการจัดท่านอนบนเตียง

แม้จะพ้นระยะวิกฤตไปแล้วการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังจากออกจากโรงพยาบาลก็ยังเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ดังนั้นหากมีการเตรียมความพร้อมรับมือที่ดีกับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเมื่อได้รับการรักษาทางการแพทย์แล้ว ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

7 ข้อ รับมือคนในครอบครัวเป็นผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง

1.  จิตใจ (mentality)

หลังจากเกิดโรคผู้ป่วยบางรายอาจมีอารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่ายจากสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงไปหรือบางรายมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากยอมรับไม่ได้ ครอบครัวจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการให้กำลังใจ และต้องเข้าใจผู้ป่วยอย่างแท้จริง

ครอบครัวควรแสดงความรัก ความห่วงใยผ่านคำพูดสีหน้าสายตา และการสัมผัสกับผู้ป่วยเพื่อแสดงออกว่าครอบครัวยังรัก พร้อมเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยอยู่เสมอ และควรหลีกเลี่ยงการตำหนิ

นอกจากนี้การจัดสิ่งแวดล้อมให้ผ่อนคลาย เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ชอบโดยเป็นกิจกรรมที่
ผู้ป่วยสามารถทำเอง จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าสามารถทำได้ อย่างเป็นอิสระและมีความสุข เช่น การดูภาพยนตร์ร่วมกันออกไปเที่ยวกับครอบครัว เป็นต้น จะทำให้ผู้ป่วยเริ่มยอมรับและเข้าใจตนเองได้มากขึ้น

2. การทำงานและรูปแบบการดำเนินชีวิต (lifestyle)

การวางแผนปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายเมื่อกลับไปทำงานเดิม ต้องปรับรูปแบบหรือลักษณะของงาน เช่นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องปฏิบัติงานนอกสถานที่
เปลี่ยนเป็นนั่งทำงานเอกสารหรือผู้ป่วยบางรายไม่สามารถกลับไปทำงานเดิมได้ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะ
และหาแนวทางใหม่ให้ตนเอง

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในวัยทำงานก็ยังคงต้องปรับตัวให้เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยที่เหนื่อยล้าง่าย
อาจต้องมีการพักระหว่างทำกิจกรรมเป็นระยะ ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุต้องมีการดูแลตนเอง ออกกำลังกาย และบางรายอาจมีปัญหาการรู้คิดหรือปัญหาความจำร่วมด้วยจึงควรเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูอยู่เป็นประจำ เป็นต้น

นอกจากนี้สมาชิกครอบครัวที่เคยทำงานอาจต้องกลับมาดูแลผู้ป่วยทำให้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนิน
ชีวิตเปลี่ยนไปซึ่งในส่วนนี้สมาชิกในครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมกับตัวผู้ป่วยในการช่วยกันวางแผนปรับ
รูปแบบการดำเนินชีวิต เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายยังคงคุณภาพชีวิตที่ดีได้

3. สภาพแวดล้อม (environment)

สิ่งแวดล้อมภายในบ้านเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต
และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ดังนั้นก่อนที่ผู้ป่วยจะย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านครอบครัวควรปรับสภาพแวดล้อมของบ้านให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงและมีความปลอดภัยโดยในส่วนนี้ครอบครัวสามารถปรึกษานักกิจกรรมบำบัดเพื่อช่วยปรับพื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้านให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมได้อย่างปลอดภัย

4. การออกกำลังกาย (exercise)

ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองมักมีอาการอ่อนแรงแขนและขา รวมถึงความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย การฟื้นฟูความแข็งแรงของร่างกายรวมถึงการเคลื่อนไหวอย่างถูกวิธีมีความสำคัญเพื่อคงความสามารถเดิมและพัฒนาความสามารถใหม่ๆ ให้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การออกกำลังกายจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ตามมาจากโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ข้อติดกล้ามเนื้อลีบบวม และแผลกดทับเนื่องจากการออกกำลังกาย จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้เองมากขึ้นซึ่งประเภท หรือลักษณะการออกกำลังกายขึ้นอยู่กับความสามารถ และข้อควรระวังของแต่ละบุคคล ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน

5. เครื่องมือและอุปกรณ์ช่วย (assistive devices)

อุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ มีบทบาทในการทำให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้ด้วยตนเองมากขึ้น
เช่น ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่ไม่สามารถใช้นิ้วหยิบจับวัตถุแบบแยกส่วนได้ อาจใช้อุปกรณ์เสริมด้ามเพื่อ
ให้สามารถจับช้อนได้อย่างมั่นคงขึ้น หรือกระดานสื่อสารสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถพูดออกมาได้แต่ฟังเข้าใจ สามารถชี้รูปบอกความต้องการได้ เช่น เข้าห้องน้ำ หิวข้าว ปิดไฟ เป็นต้น

6. อาหาร (food)

ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และในปริมาณที่เหมาะสมเน้นกลุ่มอาหารที่มีใยอาหาร
เป็นองค์ประกอบ เช่น ผักผลไม้ ลดหวาน เน้นโปรตีนจากพืชและปลา อาหารจากธรรมชาติ หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารสำเร็จรูป  และลดโซเดียมในอาหาร

ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณใบหน้าและลำคอควรได้รับการประเมินการกลืน
เพื่อความปลอดภัยในการรับประทานอาหาร หากพบว่าผู้ป่วยมีภาวะกลืนลำบากแพทย์อาจพิจารณาให้
อาหารทางสายยาง หรืออาหารอ่อน และควรกระตุ้นกลืนเพื่อช่วยฟื้นฟูเพื่อให้สามารถกลับมากลืนได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามครอบครัวสามารถพาผู้ป่วยเข้ารับการฝึกกระตุ้นกลืนเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถคง
ความสามารถการกลืนไว้ และในอนาคตอาจสามารถปรับระดับชนิดของอาหารที่สามารถทานได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความสามารถของผู้ป่วยรายนั้น ๆ

7. ใช้บริการผู้เชี่ยวชาญ (specialist)

ครอบครัวหรือญาติของผู้ป่วยหลอดเลือดสมองบางรายอาจไม่มีเวลาหรือไม่มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วย ทำให้ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ครอบครัว และตัวผู้ป่วยนิยมใช้บริการหลัง
จากนำผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากมีความสะดวกสบาย มีทีมบุคคลากรที่เชี่ยวชาญครบครัน

Winest Rehabilitation หรือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุวินเนสต์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของ ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีคุณภาพ เนื่องจากมีบริการครบวงจรทั้งรูปแบบการดูแลระยะยาว บริการแบบไปกลับหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่าน
การอบรมและมีประสบการณ์  ได้แก่ ทีมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักแก้ไขการพูด นักกำหนดอาหาร แพทย์แผนจีน และเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมด้านการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ มีสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ออกแบบตามหลัก Universal design จึงมั่นใจได้ว่าผู้เข้ารับบริการทุกท่านจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และเกิด”สุขภาวะที่ดี”

สรุป

การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังการรักษาในโรงพยาบาลมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า
การรักษาในระยะวิกฤตซึ่งครอบคลุมถึงการให้กำลังใจการดูแลจิตใจการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การจัดสภาพแวดล้อมในบ้าน การออกกำลังกายที่เหมาะสม การใช้เครื่องมือช่วย และการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ หากได้รับการฟื้นฟูโดยผู้เชี่ยวชาญหรือศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
อย่าง Winest Rehabilitation ซึ่งมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีคุณภาพและมีสุขภาวะที่ดีขึ้น

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1763

กบ.กันต์ นิมิตรประเสริฐ

อ้างอิง

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down