3 วิธีช่วยชีวิตผู้สูงอายุ

แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:
  • หลักการช่วยฟื้นคืนชีพ หรือ CPR ด้วยการกดหน้าอก 
  • การช่วยชีวิตผู้สูงอายุที่อาหารติดคอ 
  • การช่วยชีวิตผู้สูงอายุที่โดนไฟช็อต

หัวข้อบทความ

การช่วยชีวิตสำคัญอย่างไร

ทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคนในสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน เราไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อใดที่เราจะเป็นผู้ประสบเหตุที่ต้องได้รับการช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วนและถูกต้อง เช่น การหมดสติ หยุดหายใจ ไฟช็อต เป็นต้น หรือเมื่อใดที่เราต้องกลายเป็นผู้เข้าให้การช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้ที่อยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย เนื่องจากทุกวินาทีที่ผ่านไป ล้วนมีค่ามากสำหรับผู้ป่วย

ดังนั้นการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน จึงจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้การช่วยชีวิตในเบื้องต้นแก่ผู้ป่วย ทักษะการดูแลนี้สามารถช่วยป้องกันการเจ็บป่วยเพิ่มเติมได้ และยังสามารถช่วยให้ผู้ประสบเหตุนั้นอาการทรงตัวได้ จนกว่าความช่วยเหลือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมาถึง 

หากคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมขาดทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เฝ้ารอแต่บุคลากรทางแพทย์ที่ในสถานการณ์จริงอาจเข้าถึงผู้ป่วยได้ช้า อาจทำให้โอกาสรอดชีวิตน้อยลงทุกวินาที ดังนั้นจึงควรสร้างความรู้เข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการปฐมพยาบาล การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับผู้คนในสังคมอย่างทั่วถึงเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต 

บทความนี้จะเจาะลึกถึงความสำคัญของการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ และให้แนวทางพื้นฐาน 3 วิธี ในการช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน 

ทำไมการช่วยชีวิตจึงสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ?

ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสุขภาพที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน จากข้อมูลของ American Heart Association ความเสี่ยงของภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันจะเพิ่มขึ้นตามอายุ และผู้ที่อายุมากกว่า 75 ปีจะมีความเสี่ยงสูงสุด ผู้สูงอายุมักมีปฏิกิริยาตอบสนองช้าลงและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน้อยลง ซึ่งทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้ยากในกรณีฉุกเฉิน

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะมีใครสักคนที่สามารถช่วยเหลือพวกเขาในกรณีฉุกเฉิน เช่น สมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือผู้ดูแล ผู้สูงอายุในบางครอบครัวมักอาศัยอยู่คนเดียว ซึ่งหมายความว่าอาจไม่มีใครช่วยเหลือพวกเขาหากประสบเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุในการเรียนรู้ทักษะการปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพ 

ตัวบ่งชี้สำคัญของเหตุฉุกเฉินในผู้สูงอายุ

  1. การหมดสติ: หากผู้สูงอายุหมดสติ อาจเป็นสัญญาณว่ามีบางอย่างผิดปกติร้ายแรง ผู้สูงอายุอาจมีอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์อื่น ๆ 
  2. หายใจลำบาก: หากผู้สูงอายุหายใจลำบาก อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น โรคหอบหืด โรคปอดบวม หรือภาวะหัวใจล้มเหลว 
  3. อาการปวดอย่างรุนแรง: หากผู้สูงอายุมีอาการปวดอย่างรุนแรง อาจเป็นสัญญาณว่าพวกเขาอาจได้รับบาดเจ็บสาหัสทางร่างกายหรือมีอาการเจ็บปวด 
  4. พฤติกรรมที่ผิดปกติ: หากผู้สูงอายุมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น แสดงอาการสับสนหรือสับสน นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ 

สิ่งสำคัญคือ ผู้เข้าช่วยเหลือต้องรวบรวมสติ และควบคุมอารมณ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ฉุกเฉินของผู้สูงอายุที่ประสบเหตุ การมีสติและการประเมินอาการเบื้องต้นจะช่วยให้ตัดสินใจเลือกวิธีปฐมพยาบาลได้ดีที่สุด หากผู้เข้าช่วยเหลือรู้สึกหนักใจ ให้หายใจเข้าลึก ๆ และเตือนตัวเองว่าเราพร้อมที่จะช่วยเหลือ เพราะไม่ว่าการช่วยเหลือในรูปแบบใด ทั้งการโทรแจ้ง 1669 การขอความช่วยเหลือ การทำ CPR ก็ถือว่าเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตแล้ว 

3 วิธีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเมื่อเจอผู้สูงอายุที่ประสบเหตุเหล่านี้

1. การทำ CPR ให้กับผู้สูงอายุที่หมดสติ

ให้ใช้การกดหน้าอกเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการทำ CPR ช่วยให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปเลี้ยงสมองและอวัยวะสำคัญอื่น ๆ เมื่อทำการกดหน้าอกในผู้สูงอายุ อาจต้องใช้แรงมากกว่าการกดหน้าอกในผู้ที่มีอายุน้อย เนื่องจากผู้สูงอายุมีกระดูกและกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง การ CPR ให้ตามขั้นตอนเหล่านี้: 

  • ตรวจดูว่าผู้สูงอายุนั้นมีสติหรือไม่โดยการวางมือทั้งสองข้างบนไหล่ เขย่าและเรียกดังๆ หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้โทรแจ้ง 1669 แล้วเริ่มทำ CPR แต่หากรู้สึกตัว หายใจเองได้ให้จับผู้ป่วยนอนตะแคงและรอรถพยาบาลไม่ควร CPR ขณะผู้ป่วยมีสติ 
  • ให้ผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็ง ๆ นั่งคุกเข่าด้างข้างถัดจากหน้าอกของผู้ป่วยและวางฝ่ามือไว้ตรงกลางหน้าอก วางมืออีกข้างไว้บนมือแรกและประสานนิ้วเข้าด้วยกัน  
  • ยืดแขนให้ตรงแล้วกดหน้าอกโดยใช้น้ำหนักตัว กดแรงและเร็วในอัตรา 100 ครั้งต่อนาที กดลึกประมาน 2 นิ้ว ปล่อยหน้าอกให้คืนตัวสุดทุกครั้ง ขณะออกแรงกดระวังอย่าให้มือหลุดจากบริเวณอก เพราะอาจทำให้กดผิดตำแหน่ง 
  • หลังจากกดหน้าอกทุก ๆ 30 ครั้ง ให้ผายปอดช่วยหายใจสองครั้ง แต่หากไม่มีการป้องกันเชื้อโรคก็สามารถกดหน้าอกอย่างเดียวได้โดยไม่ต้องผายปอด 
  • ทำ CPR ต่อไปจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึงหรือผู้ป่วยนั้นเริ่มหายใจได้เอง 
  • เมื่อทำ CPR ครบ 2 นาที ควรหยุดทำและประเมินอาการรู้สึกตัวของผู้ป่วย แต่ไม่ควรหยุดเกิน 10 วินาที หากผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวให้ทำการ CPR ต่อไป และควรสลับตัวเปลี่ยนคนช่วยชีวิตเนื่องจากหากผู้ทำ CPR อ่อนแรงหรือเหนื่อยการช่วยชีวิตจะไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ 
  • หากบริเวณนั้นมีเครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ (AED) ให้นำมาใช้ได้เลยโดยไม่ต้องรอให้ CPR เสร็จ จากนั้นทำตามคำแนะนำของเครื่อง AED 

2. การช่วยชีวิตผู้สูงอายุที่มีอาหารติดคอ

การสำลัก คือ การอุดตันของทางเดินหายจะทำให้หายใจไม่ได้ สมองของคนเราจะขาดอาการได้ไม่เกิน 4 นาที จึงควรรีบให้ทำการช่วยชีวิตเบื้องต้นดังนี้  

  • ถามผู้ป่วยว่าไอได้ไหม ถ้าไอได้ คุณควรกระตุ้นให้ไอเอาสิ่งที่ติดหลุดออกมา 
  • ถ้าผู้ป่วยไอไม่ได้ ผู้ช่วยชีวิตยืนข้างหลังผู้ป่วยแล้วสอดมือเข้าใต้วงแขน 
  • กำมือข้างที่ถนัดและวางไว้ใต้ชายโครง เหนือสะดือของผู้ป่วย 
  • ใช้มืออีกข้างวางบนมือที่กำแล้วดันเข้าหาตัว ออกแรงกระทุ้งเข้าหาตัวผู้ป่วยเป็นแนวเฉียงขึ้นด้วยความเร็วและแรง
  • ทำเซ็ทละ 5 ครั้ง จนกว่าอาหารจะหลุดออกมาและอาการดีขึ้น  
  • แต่หากผู้ป่วยหมดสติ ให้ทำการกดหน้าอกตามหลักการฟื้นคืนชีพหรือ CPR ตามขั้นตอนข้างต้น 

อ่านเพิ่มเติม > วิธีช่วยผู้สูงอายุสำลักอาหาร

3. การช่วยชีวิตผู้สูงอายุที่โดนไฟฟ้าช็อต

  • สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ตัดกระแสไฟฟ้าทันที หากสามารถทำได้เองอย่างปลอดภัย หากไม่สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้ ควรย้ายผู้ป่วยออกห่างจากแหล่งพลังงานไฟฟ้า และควรเรียกผู้เชี่ยวชาญในการช่วยตัดไฟ 
  • ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟช็อตด้วยมือเปล่าเด็ดขาด ให้ใช้วัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ถุงมือยาง ผ้าที่แห้ง มาคลุมตัวผู้ที่ถูกไฟช็อตก่อนสัมผัส 
  • หากผู้ป่วยมีรอยไหม้ ควรคลุมแผลด้วยผ้าสะอาดและนำตัวไปพบแพทย์ทันที 
  • หากผู้ป่วยที่หมดสติ จะต้องประเมินเบื้องต้นว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจหรือไม่ หากหยุดหายใจ จะต้องรีบทำการช่วยฟื้นคืนชีพหรือ CPR ทันที และแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์  โทร 1669 

โดยสรุป 

การปฐมพยาบาล 3 วิธีดังกล่าวนี้ จัดเป็นการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่ควรเรียนรู้ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เวลาที่ผ่านไปเพียงเล็กน้อยก็สำคัญอย่างมากต่อชีวิตของผู้ป่วย บางขั้นตอนที่เราสามารถทำได้ก่อนที่แพทย์จะมาถึง เช่น โทร 1669 หรือการกดหน้าอกกู้ชีพ ก็ถือว่ามีส่วนช่วยในการทำให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง 

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

เอกสารอ้างอิง
- 4 วิธีช่วยเหลือคนถูกไฟฟ้าช็อตอย่างปลอดภัย https://bangpakok3.com/care_blog/view/55
- 3 วิธี CPR กู้ชีวิต 3 ช่วงวัย | พบหมอมหิดล [by Mahidol Channel] https://www.youtube.com/watch?v=UUp3l1KiHgU
- อาหารติดคอ ปฐมพยาบาลอย่างไร? | พบหมอมหิดล [by Mahidol Channel] https://www.youtube.com/watch?v=4SjoRWnhOWU
บทความก่อนหน้า >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down