ความแตกต่างของ Generation ของแต่ละช่วงวัย

หมวดหมู่:
September 24, 2023
แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:

Generation คืออะไร ?

Generation คือ การแบ่งกลุ่มคนตามยุคสมัยทางสังคมโดยมีการเมืองหรือเหตุการณ์สำคัญทางสังคมเป็นตัวกำหนด แบ่งตามช่วงปีที่เกิด เกิดเป็นกลุ่มช่วงอายุที่เกิดประสบการณ์และค่านิยมที่มีร่วมกัน Generation นั้นมีหลายช่วงและการแบ่งกลุ่มเหล่านี้มักจะใช้เพื่อทำความเข้าใจว่าคนรุ่นต่าง ๆ คิดอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร และมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่มักมีคำพูดตีตรากันอยู่เสมอว่าผู้สูงอายุหรือคนรุ่นก่อนนั่นตามไม่ทันโลก หรือคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อฟังและความอดทนต่ำ สั่งเหล่านี้กำลังจะเป็นปัญหามากขึ้นๆเรื่อยเนื่องจากความต่างของ Generation

คน Gen ไหนเป็นอย่างไร ?

Silent Generation: คนรุ่นนี้เกิดระหว่างปี 1928 และ 1945 เป็นคน “ภักดี”

Silent Generation หญิงสูงอายุผมสั้นยิ้มแย้ม มีรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าแต่ยังสดใส

พวกเขามีอายุมากขึ้นในช่วงสงครามเย็น และพวกเขาเป็นที่รู้จักในเรื่องลัทธิปฏิบัตินิยม การทำงานหนัก และความภักดี มีความรักชาติ รักษากฎระเบียบ ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้สูงอายุสำหรับสังคมในปัจจุบัน คือมีอายุประมาน 78 – 95 ปี 

Baby Boomers: คนรุ่นนี้เกิดระหว่างปี 1946 ถึง 1964 เป็นคน “มองโลกในแง่ดี”

Baby Boomers หนุ่มใหญ่ผมขาวทั้งศรีษะ ยิ้มแย้ม สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว

คนกลุ่มนี้เชื่อในความเป็นไปได้ เชื่อว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ แข่งขันหาทางเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวไปข้างหน้าและเชื่อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ มีนิสัยการทำงานหนักและต้องการพัฒนาตนเองผ่านการทำงาน ในปัจจุบัน อายุประมาน 59 – 77 ปี ซึ่งถือว่าก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว

Generation X: เกิดระหว่างปี 1965 ถึง 1980 เป็นคน “ขี้ระแวง สงสัย”

Generation X ผู้ใหญ่เพศหญิงมีสีหน้ายิ้มแย้ม ใส่เสื้อสีม่วงสดใส

ยุคเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ Generation X ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นอิสระ คือมีความเป็นตัวของตัวเอง พึ่งพาตนเองได้ดี ไม่ชอบการใช้อิทธิพลหรืออำนาจ ศรัทธาในตัวเอง หลายคนเติบโตมาพร้อมกับพ่อแม่ที่ทำงานหนัก จึงมองว่าการทำงานคือชีวิตแต่การทำงานก็ต้องสมดุลกับการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน จึงมักสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อนได้ (Work-life balance) ในปัจจุบันนี้ คน Gen x กำลังอยู่ในวัยผู้ใหญ่เต็มตัวตัวและส่วนต้นของคน Gen X ก็กำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุอีกด้วย

Millennials หรือ Generation Y: เกิดระหว่างปี 1981 ถึง 2001 เป็นคน “อยู่กับความเป็นจริง”

Generation Y หญิงสาววัยทำงานยิ้มสดใส ถือมือถืออยู่ในมือ

คนรุ่นนี้เป็นที่รู้จักในเรื่องการใช้เทคโนโลยีและความมุ่งมั่นต่อความยุติธรรมทางสังคม พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี คนรุ่นนี้มักชื่นชมกับความหลากหลาย ชอบทำงานร่วมกัน ได้รับการเลี้ยงดูจาก Baby Boomers ที่มองโลกในแง่ดี ทำให้คน Generation Y มีทัศนคติที่ดี มั่นใจในตนเอง มุ่งสู่ความสำเร็จ ให้ความสำคัญกับงานที่มีความหมาย (Meaningful work) ณ ปีปัจจุบันนี้ คน Gen Y นี้ ยังมีความแตกต่างของการเติบโตอยู่มาก เพราะมีทั้งช่วงนักศึกษาวัยเรียน ผู้ใหญ่วัยทำงาน บางส่วนมีครอบครัวมีลูกแล้ว บางส่วนกำลังค้นหาสิ่งที่สนใจเพื่อสร้างอนาคตให้กับตนเอง

Generation Z: เกิดระหว่างปี 2001 ถึง 2012 มักถูกเรียกว่า “ชาวดิจิตอล”

Generation Z วัยรุ่นผู้หญิงนั่งเขียนการบ้าน และใช้โน๊ตบุ๊คด้วย

พวกเขาเป็น Generation แรกที่เติบโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ทำให้รับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วจึงตัดสินใจได้รวดเร็วและเป็นที่รู้จักว่ามีความหลากหลายและเป็นคนเปิดใจกว้าง เปิดกว้างทางความคิดมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีความมั่นใจสูง กล้าแสดงออก ชอบสร้างความสุขให้กับตนเอง ปัจจุบันนี้ คน Gen Z ถือว่าเป็นวัยรุ่นวัยอยากรู้อยากลอง วัยกำลังค้นหาตัวตน

Generation Alpha: เกิดระหว่างปี (เกิดในช่วงปี 2010-2025) มักถูกเรียกว่า “ชาวดิจิตอลโดยกำเนิด”

Generation Alpha เด็กผู้ชายสวมใส่หูฟังและยืนกดไอแพด

เด็ก Gen Alpha เกิดมาพร้อมกับการเปิดตัวของ iPad และ Instagram แบรนด์และแอปพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกในปัจจุบัน พวกเขาเกิดขึ้นในยุคของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว โลกสำหรับพวกเขาคือความบันเทิง การเล่นเกม การเชื่อมต่อกับเพื่อน และแม้แต่การศึกษาก็อยู่บนอินเทอเน็ตและจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ชีวิตของเด็ก Alpha วนเวียนอยู่กับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

ความแตกต่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap

ปัญหาความไม่เข้าใจกันในแต่ละ Generation นั้น มักเกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมมามากน้อยไม่เท่ากัน อีกทั้งยังเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างมากในช่วงที่แต่ละ Generation เติบโตมา เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน จะให้คิดแบบเดียวกัน ทำแบบเดียวกันนั้นเป็นไปไม่ได้ หากเราเข้าใจความแตกต่างตรงนี้ก็จะเริ่มเปิดใจ ทำความเข้าใจและปรับตัวเข้าหากันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่วงวัยผู้สูงอายุ ที่ในปัจจุบันคือ คนที่เกิดในยุค Silent Generation และ Baby Boomer ที่ทั้งอายุมากและมากประสบการณ์

บางครั้งผู้สูงอายุมักถูกสังคมส่วนใหญ่มองว่าเป็นวัยที่ทำอะไรไม่ค่อยได้แล้วทำให้สังคมปฏิบัติกับผู้สูงอายุแตกต่างจากวัยอื่น ๆ ทั้งปล่อยปะละเลยไม่ดูแล ไม่สนใจ หรือสนใจดูแลมากเกินไปจนผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนไร้คุณค่า เหมือนโดนดูถูกในเรื่องของความสามารถเนื่องจากร่างกายที่โรยราเสี่ยงต่อการล้ม อีกทั้งบางคนมีภาวะความจำเสื่อมและประสิทธิภาพการทำงานลดลงอันเนี่องมาจากโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ ซึ่งคนในวัยนี้หลายคนที่มีลูกหลานคอยห่วงใยก็อาจเลือกดูแลที่ผ่านหรือฝากท่านไว้กับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ด้วยความแตกต่างกันทาง Generation ทำให้คนรุ่นใหม่หรือลูกหลานอาจไม่ฟังความเห็นของผู้สูงอายุหรือผู้ใหญ่มากนัก เพราะมักเชื่อในการตัดสินใจของตนเองมากกว่า และตีตราไปแล้วว่าผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุคือคนหัวโบราณ ขาดการวิเคราะห์แยกแยะตามไม่ทันยุคสมัยปัจจุบัน เมื่อคนรุ่นใหม่นำ Generation มาตีกรอบและตีตราคนสมัยก่อนว่าต้องหัวโบราณ หรือคนสมัยก่อนมองว่าคนรุ่นใหม่ขาดความอดทน นั่นคือการตัดสินกันโดยขาดการมองตามความเป็นจริง เพราะแท้จริงแล้วคนใน Generation เดียวกันก็ไม่ได้เหมือนกันเสมอไป

คนที่อยู่ในปลาย Generation จะมีลักษณะเหมือนคนใน Generation ถัดไปมากกว่า เช่น Gen Y ที่เกิดปี 1995 มักมีการดำเนินชีวิตเหมือน เหมือน Gen Z มากกว่า Gen Y ด้วยกันเอง การแบ่งกลุ่มคนด้วย Generation จึงมีความล้าสมัย ในปัจจุบันผู้คนล้วนแล้วแต่พัฒนาตนเองอยู่เสมอทำให้ความแตกต่างด้านเทคโนโลยีของคนยุคหลังแทบไม่ค่อยแตกต่างกันจนเห็นได้ชัดและการมองคนด้วย Generation กลับเป็นการยุยงให้คนมองข้ามปัจจัยอื่น ๆ ในความแตกต่างระหว่างวัย ส่งผลให้คนแต่ละวัยเข้าใจกันได้ยากมากขึ้นเพราะมัวแต่มองข้อเสียของคนแต่ละยุค

ผู้หญิงคนละช่วงวัยอยู่ด้วยกันอย่างยิ้มแย้มมีความสุข Generation gap

ทำความเข้าใจความแตกต่างเพื่ออยู่ร่วมกัน

คำว่าครอบครัวหรือสังคม ย่อมมีความแตกต่างอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือความแตกต่างระหว่างวัย ผู้สูงอายุที่มากประสบการณ์แต่เริ่มแก่ตัวลง ผู้ใหญ่วัยทำงานที่เต็มไปด้วยความเครียดและความรับผิดชอบต่อครอบครัว วัยรุ่นผู้ค้นหาตัวเองและกำลังสร้างตัวตนเพื่อเป็นอนาคตของชาติในรุ่นถัดไป เด็กผู้เต็มไปด้วยความสดใสและมีสิ่งใหม่ ๆ ให้เรียนรู้เสมอ

ความแตกต่างเหล่านี้ จะอยู่ร่วมกันได้เพียงยอมรับและเข้าใจในความแตกต่าง เคารพการตัดสินใจซึ่งกันและกัน ไม่เห็นด้วยแต่ยังพูดคุยกันได้ เพราะทุกคนล้วนมีทัศนคติเป็นของตนเอง ผ่านการสื่อสารในเชิงบวก

เพราะการสื่อสารคือสิ่งสำคัญมากสำหรับสัมพันธภาพระหว่างกัน คำพูดที่ใจเย็น สงบอารมณ์ สีหน้าท่าทางที่ผ่านการควบคุมและไตร่ตรองได้อย่างดีของผู้สูงอายุหรือผู้ใหญ่ก็สามารถสื่อสารให้เด็ก ๆ เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น

ผู้สูงอายุและผู้ใหญ่ควรแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาแต่ไม่โผงผาง ทั้งความรู้สึกทางลบและทางบวกเพื่อให้ผู้ฟังหรือลูกหลานรับรู้และเห็นใจซึ่งกันและกันได้ง่ายมากขึ้น

คนรุ่นใหม่เมื่อทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้สูงอายุก็จะรับรู้ได้ว่าท่านมีความเหงาและเศร้ามากเพียงใดกับการที่ต้องเผชิญถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและความคิดที่ลดถอยลง ร่างกายหรือความคิดของผู้สูงอายุไม่รวดเร็วหรือมีประสิทธิภาพเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัยจึงสำคัญเช่นเดียวกัน

การหาเวลาว่างพูดคุยถึงเรื่องต่าง ๆ ในอดีตที่ตราตรึงใจหรือเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่สนใจด้วยกันกับผู้สูงอายุ การทานข้าวร่วมกัน ชวนผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่ท่านชอบทำ เช่น กิจกรรมทางศาสนาเข้าวัดทำบุญ การที่ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมที่สนใจ เล่นเกมส์กับผู้สูงอายุ ได้เคลื่อนไหวบ้าง ได้พูดคุยและแสดงทัศนคติของตนเองเมื่อเข้าสังคมจะทำให้ผู้สูงอายุได้ผ่อนคลายและเพิ่มความหมายของชีวิตมากขึ้น

สรุป

Generation ช่วยให้เรามองคนในแต่ละยุคได้ง่ายมากขึ้น แต่ก็อาจนำไปสู่การตีตราในแง่ลบระหว่างคนแต่ละวัยได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นให้ใช้ความแตกต่างทาง Generation เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจและยอมรับการมีอยู่ซึ่งกันและกัน เพราะคนแต่ละคนแม้ Generation เดียวกันก็ผ่านอะไรมาไม่เหมือนกัน และมนุษย์เราพร้อมพัฒนาตนเองอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในวัยผู้สูงอายุหรือเป็นคนรุ่นใหม่ เพียงแต่ต้องการการเคารพซึ่งกันและกัน หมั่นสร้างสัมพันธ์อันระหว่างอยู่เสมอเพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คนต่างวัยในครอบครัวมีความสุขบนความแตกต่างได้เป็นอย่างดี

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

เอกสารอ้างอิง

Angeline, T. (2011). Managing generational diversity at the workplace: Expectations and perceptions of different generations of employees. African Journal of Business Management5(2), 249.

Dimock, M. (2019). Defining generations: Where Millennials end and Generation Z begins. Pew Research Center17(1), 1-7.

Jha, A. K. (2020). Understanding generation alpha.

ปรีดี นุกุลสมปรารถนา. (2563) รู้จักกับ Generation ต่างๆ: https://www.popticles.com/marketing/know-your-generation/ สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566.

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down