เส้นเลือดในสมองตีบแตกตัน รักษาได้ไหม?

แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:
MRI brain

  • รู้จักตัวย่อ FAST สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง
  • ไขมัน ความดันสูง เบาหวาน ผู้สูงอายุ เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคหลอดเลือดสมอง “เวลา” คือสิ่งสำคัญ รู้เร็ว รักษาได้

โรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองหยุดชะงัก สมองจึงขาดเลือดไปเลี้ยง เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ถือว่าร้ายแรง เนื่องจากเกิดการอุดตัน การตีบ หรือการแตกของหลอดเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ ส่งผลให้เซลล์สมองขาดออกซิเจน ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที โรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เช่น ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย และความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองยิ่งจะเพิ่มสูงขึ้นหากมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) ผู้มีประวัติว่ามีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่เคยมีอาการของภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) และหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ปัจจัยเหล่านี้จะมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น

วัดความดัน

โรคหลอดเลือดสมองมีกี่ประเภท

โรคหลอดเลือดสมองมี 2 ประเภท

1. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke)

เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยของโรคหลอดเลือดสมอง โดยอาจเกิดการอุดตันเนื่องจากมีลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบและแข็งขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง และทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะทุพพลภาพหรือพิการ

2. โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke)

หลอดเลือดที่เปราะบาง ขาดความยืดหยุ่น จนหลอดเลือดในสมองแตก หรือ ฉีกขาดทำให้เลือดออกในสมองหรือรอบๆสมอง ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองก็ลดลง ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้อย่างฉับพลัน โรคหลอดเลือดสมองชนิดนี้พบได้น้อยกว่าโรคหลอดเลือดสมองตีบ แต่มักจะรุนแรงมากกว่าและมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต 

ผู้สูงอายุจับราวทางเดิน

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

อาการของโรคหลอดเลือดสมองอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของสมองที่ได้รับผลกระทบและความรุนแรงของความเสียหาย ซึ่งมีอาการทั่วไปที่สามารถสังเกตเห็นได้ ได้แก่ 

  1. อาการอ่อนแรงหรือชาที่ใบหน้า แขนหรือขา อย่างกะทันหัน โดยทั่วไปจะเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย 
  2. พูดสื่อสารลำบากหรือไม่เข้าใจคำพูดของผู้อื่น
  3. การมองเห็นเปลี่ยนไปอย่างกะทันหันหรือสูญเสียการมองเห็นในตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
  4. ปวดศีรษะรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  5. สูญเสียความสมดุลในการคงท่าทางหรือการวางแผนการเคลื่อนไหวของร่างกาย

สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตว่าอาการของโรคหลอดเลือดสมองเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดฉับพลันทันทีหรือรุนแรงเสมอไป ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการที่ไม่รุนแรงและค่อยๆ รุนแรงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เช่น สับสน วิงเวียน หรือมีความยากลำบากในการจำหรือคิด มุมปากตก เสียงเพี้ยนไปจากเดิม หากมีอาการที่เข้าข่ายอาการของโรคหลอดเลือดสมองเพียงเล็กน้อย ก็แนะนำให้พบแพทย์ทันที

สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต

หากสงสัยว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดอาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง สิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการตรวจประเมินทันที ตัวย่อ “FAST” จะช่วยให้จดจำขั้นตอนสำคัญที่ต้องทำเมื่อสงสัยว่ามีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง

F = Face ใบหน้า: ให้ผู้ป่วยยิ้ม จะยิ้มได้แค่ข้างเดียว ใบหน้าอีกข้างหนึ่งไม่สามารถยกได้ ปากเบี้ยว หนังตาตกลง หรือตาพล่ามัว

A = Arm แขน: ให้ผู้ป่วยยกแขนทั้งสองข้างขึ้น ผู้ป่วยจะยกได้แค่ข้างเดียว ให้ตรวจดูอาการอ่อนแรงหรืออาการชาที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย

S = Speech คำพูด: ให้ผู้ป่วยพูดวลีง่ายๆ ซ้ำๆ ผู้ป่วยจะพูดไม่ชัด ติดขัด พูดได้ไม่เหมือนเดิม

T = Time เวลา: หากสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ โทร 1669 หรือขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินทันที

การบำบัดรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

นักกายภาพบำบัดฝึกผู้สูงอายุเดินวอร์คเกอร์

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลทันทีและต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการกับอาการของโรคและป้องกันโรคหลอดเลือดสมองที่อาจเกิดซ้ำในอนาคต สำหรับโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน อาจใช้ยาเพื่อละลายลิ่มเลือดและกำจัดลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ ซึ่งจะทำให้ เลือดไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น ใช้ยาลดไขมันเพื่อลดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด สำหรับโรคหลอดเลือดสมองแตก การรักษาอาจรวมถึงการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหลอดเลือดและห้ามเลือด การรักษาอื่น ๆ เช่น การใช้ยาและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย เพื่อจัดการกับอาการและป้องกันโรคหลอดเลือดสมองที่จะเกิดซ้ำได้ในอนาคต ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหลอดเลือดสมอง ตลอดจนความรุนแรงและตำแหน่งของความเสียหาย การฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ ได้แก่ การทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด และการแก้ไขการพูด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยนั้นกลับมาทำงานและกลับมาดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง พึ่งพาผู้อื่นให้น้อยที่สุด การเปลี่ยนแปลงการกินอาหาร สร้างพฤติกรรมการออกกำลังกาย ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองในอนาคตได้

แนวทางปฏิบัติสำหรับการดูแลโรคหลอดเลือดสมองของวินเนสต์ (Winest)

การวินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็ว: เวลาเป็นสิ่งสำคัญเมื่อพูดถึงโรคหลอดเลือดสมอง การวินิจฉัยและการรักษาอย่างรวดเร็วสามารถช่วยลดความเสี่ยงของความเสียหายในระยะยาวได้ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุวินเนสต์ Winest ของเราประกอบไปด้วยสหวิชาชีพทางแพทย์ มีพยาบาลและเจ้าหน้าที่ ที่จะสามารถตรวจประเมินอาการของโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างรวดเร็ว และส่งต่อโรงพยาบาลใกล้เคียงได้ทันท่วงที (หากเกิดอาการภายในศูนย์)

การดูแลที่ครอบคลุม: การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรมีการทำงานร่วมกับทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพที่สามารถให้การบำบัดดูแลที่เฉพาะทางและเป็นรายบุคคล เช่น บางรายอาจพบว่าไม่สามารถกลืนอาหารได้ ทานอาหารได้ลำบาก หรือต้องใส่สายยางให้อาหาร อันเป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดสมอง จำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียด และฝึกกระตุ้นกลืนโดยนักกิจกรรมบำบัด เพราะหากเกิดการสำลักจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง เกิดภาวะแทรกและปอดติดเชื้อได้ ดังนั้นการบำบัดฟื้นฟูจึงสำคัญและสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกลับมาดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองให้มากที่สุด ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุวินเนสต์ Winest มีนักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด และนักแก้ไขการพูด วางแผนการบำบัดรักษาที่ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้ป่วยแต่ละราย

การติดตามอย่างต่อเนื่อง: ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรได้รับการติดตามอาการอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามความคืบหน้าและระบุอาการในแต่ละวัน เพราะโรคหลอดเลือดในสมองสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้อีก จึงต้องมีการปรับวิถีการใช้ชีวิต กินอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันต่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

นักกายภาพบำบัดฝึกเดินผู้ป่วยอ่อนแรงครึ่งซีก
นักกิจกรรมบำบัดกระตุ้นกลืนผู้ป่วยใส่สายให้อาหาร
นักกิจกรรมบำบัดฝึกการใช้งานแขนและมือผู้ป่วย

โดยสรุป โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ร้ายแรงซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หลังจากนั้นการได้รับการบำบัดฟื้นฟูโดยทีมสหวิชาชีพก็จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น นอกจากนี้การทำความเข้าใจอาการของโรคหลอดเลือดสมอง และปฏิบัติตามแนวทางการรักษาที่กำหนดไว้ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในอนาคต

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

เอกสารอ้างอิง
พรรณวลัย ผดุงวณิชย์กุล โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) http://www.med.nu.ac.th/dpMed/fileKnowledge/106_2017-08-19.pdf ค้นวันที่ 8 มี.ค. 2566
Phannee Rattanapatumwan. (2022). Nursing care of Ischemic Stroke patients in Emergency room: Case study. JOURNAL OF ENVIRONMENTAL AND COMMUNITY HEALTH, 7(3), 227-237.
บทความก่อนหน้า >
บทความถัดไป >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down