“รู้ทันอัลไซเมอร์ เข้าใจอาการ ระยะ สาเหตุ และความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์”

หมวดหมู่:
February 15, 2023
แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:
  • โรคอัลไซเมอร์เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคสมองเสื่อม
  • สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์เกิดจากโรคชรา พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม
  • โรคอัลไซเมอร์มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นตามระยะของโรค
  • การจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

อัลไซเมอร์ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุในการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) คือ ภาวะความเสื่อมถอยของระบบประสาทในผู้สูงอายุ ที่ส่งผลต่อความสามารถในการคิด การจดจำ และส่งผลต่อพฤติกรรมการดำเนินกิจกรรมประจำวันของบุคคล

โรคอัลไซเมอร์ในระยะแรกอาการจะคล้ายโรคสมองเสื่อมที่เกิดได้ตามวัย แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีการรับรู้ลดลง ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองลดลง เกิดปัญหาเกี่ยวกับความจำ การสื่อสาร การตัดสินใจและการใช้เหตุผล มีปัญหาพฤติกรรมและรวมถึงมีอาการทางจิตเวช และอาจสร้างความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับทั้งผู้ป่วยอัลไซเมอร์และคนที่ผู้ป่วยรัก

โรคอัลไซเมอร์มักเกิดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เป็นโรคที่ต้องให้ความสำคัญและตระหนักรู้อย่างมากเพราะถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอยู่ในอันดับต้น ๆ ของผู้สูงอายุ เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์ยังไม่มีวิธีการรักษาโดยตรง มีแต่การรักษาตามอาการเท่านั้น แต่สามารถให้การบำบัดดูแลเพื่อให้อาการบางอย่างดีขึ้นได้

อาการและความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์

อาการและความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์ขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยโรคอัลไซเมอร์มักเริ่มจากการสูญเสียความทรงจำเล็กน้อยและค่อย ๆ ดำเนินไปสู่การลดลงของความรู้ความเข้าใจและจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาการเริ่มต้นของอัลไซเมอร์ เช่น การลืมเหตุการณ์หรือบทสนทนาล่าสุด วางสิ่งของผิดที่ ไม่สามารถทำงานที่คุ้นเคยให้สำเร็จได้ ในขณะที่โรคอัลไซเมอร์ดำเนินไปเรื่อย ๆ จะมีอาการจะเด่นชัดขึ้นจนรบกวนความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างอิสระของผู้ป่วยอัลไซเมอร์

การดำเนินโรคของอัลไซเมอร์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

1. ระยะเริ่มต้น

การสูญเสียความทรงจำเล็กน้อยเป็นอาการหลักของระยะนี้ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นอาจมีอาการสับสนและหลงลืมบ้าง ส่งผลต่อการแก้ปัญหาและการตัดสินใจในการทำงาน แต่ก็ยังสามารถทำกิจกรรมประจำวันส่วนใหญ่ได้ ยังสามารถดูแลตัวเองในเรื่องทั่วไปได้

2. ระยะกลาง

อาการจะเด่นชัดมากขึ้นในระยะนี้ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจมีปัญหาในการจดจำผู้คนและสถานที่คุ้นเคย นอกจากนี้ยังอาจเริ่มแสดงอาการทางพฤติกรรมและจิตใจ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า และมีความก้าวร้าว เริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น จากที่เคยใช้โทรศัพท์มือถือได้ ก็เริ่มสับสนขั้นตอนการใช้งาน มีปัญหาการสื่อสารกับคนอื่น ส่งผลให้เริ่มเข้าสังคมไม่ได้

3. ระยะท้าย

ในช่วงระยะนี้ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีอาการแย่ลงอย่างมาก การเคลื่อนไหวและการตอบสนองช้าลง จึงต้องการการดูแลตลอด 24 ชั่วโมงและต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งการรับประทานอาหาร การแต่งตัว และการใช้ห้องน้ำ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ดูแลในทุกช่วงเวลาจนตลอดชีวิต

โรคอัลไซเมอร์เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีสาเหตุจากการตายของเซลล์ประสาท อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคอัลไซเมอร์ และอีกปัจจัยคือพันธุกรรม การพบประวัติครอบครัวมีโรคสมองเสื่อม การมีญาติสายตรงเป็นโรคอัลไซเมอร์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ 10% ถึง 30% บุคคลที่มีพี่น้อง 2 คนขึ้นไปที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป รวมถึงการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมก็เสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ดี ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่

มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสัมผัสกับสารพิษ การบาดเจ็บที่ศีรษะ การสูดฝุ่น PM2.5 อาจมีส่วนในการก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคประจำตัวบางอย่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือด

มลภาวะ

การปรับสิ่งแวดล้อม จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

การปรับสิ่งแวดล้อมและปรับพฤติกรรมให้แก่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดการปัญหาและบรรเทาอาการรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์

สามารถทำได้โดยวิธีการง่ายๆ คือเริ่มจากการรักษาสภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์คุ้นเคย การใช้ชีวิตประจำวันต้องไม่ยุ่งยาก วางของไว้ที่เดิม สิ่งของรอบตัวแบบเดิมและหยิบจับใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ การอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วยโดยการจัดหาอุปกรณ์ช่วยในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัย มีกิจกรรมให้ได้เจอแสงแดด ได้ออกกำลังกายในตอนกลางวันจะช่วยให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หลับสบาย เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำจะสามารถชะลอการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์ได้

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายความอดทนและความสามารถของผู้ดูแลอย่างมาก การให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้รับการดูแลโดยศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ตรงจุดที่สุด ลดภาระของผู้ดูแล และช่วยให้ผู้ป่วยได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ได้ปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุ 

ศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมของวินเนสต์ (Winest) มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีการให้บริการจากสหวิชาชีพทางการแพทย์ครบทีม อันได้แก่ การให้บริการทางกายภาพบำบัดเพื่อการออกกำลังกาย เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพราะการมีกิจกรรมทางกายจะช่วยลดการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์ได้ มีพยาบาลให้ความรู้แก่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์และครอบครัวเกี่ยวกับการใช้ยา ดูแลเรื่องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน มีแพทย์ติดตามอาการในแต่ละระยะของโรค มีนักกำหนดอาหารเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 
มีนักกิจกรรมบำบัดช่วยวิเคราะห์กิจกรรมที่ส่งเสริมความจำ และการเข้าสังคมเพื่อปรับให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งปลอดภัยด้วยทีมบริบาลที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง พาทำกิจกรรมสันทนาการในแต่ละวัน เพื่อความรู้สึกผ่อนคลาย

สนใจอ่านเพิ่ม คลิก > 7 วิธีฝึกสมองไม่ให้ลืม

โรคอัลไซเมอร์ คือ หนึ่งในกลุ่มโรคสมองเสื่อม ที่ทำให้ร่างกายเสื่อมและถดถอยลงตามระยะของโรค ซึ่งส่งผลต่อความจำ ความคิด และความสามารถในการดำเนินกิจกรรมประจำวันของบุคคล การเข้าใจอาการ ระยะ และความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ตลอดจนสาเหตุของโรค เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และการดูแลโดยศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ถือเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของญาติ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

เอกสารอ้างอิง
Kumar A, Sidhu J, Goyal A, et al. Alzheimer Disease. [Updated 2022 Jun 5]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK499922/
บทความก่อนหน้า >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down