การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุผ่าเข่า

หมวดหมู่:
May 6, 2023
แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:
รอยแผลผ่าตัดเข่าผู้สูงอายุ

Highlight

  • คนอ้วน ผู้สูงอายุ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เสี่ยงข้อเข่าเสื่อม
  • ผู้สูงอายุหลังผ่าเข่า ต้องออกกำลังกาย
  • พาไปทำความรู้จักท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมในผู้สูงอายุผ่าเข่า

เข่าเสื่อมคืออะไร

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis) เป็นโรคเรื้อรังในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เกิดจากภาวะความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ (Articular cartilage) ที่เกิดการสึกกร่อน และกระดูกใต้ผิวข้อ (subchondral bone) เกิดการหนาตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่น้ำไขข้อลดลง ทำให้เกิดการเสียดสีในข้อต่อ ขาดความยืดหยุ่น ข้อเข่าตึง ส่งผลให้ปวดข้อ ข้อเข่าฝืด เจ็บปวดและเกิดเสียงดังในข้อเข่าขณะเคลื่อนไหวร่างกาย

โรคข้อเข่าเสื่อมสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 : ระยะเริ่มแรก ยังไม่มีอาการปวดแต่เกิดเสียงดังก๊อบแก๊บในข้อเข่าขณะเคลื่อนไหวร่างกาย

ระยะที่ 2 : ระยะเสื่อมเล็กน้อย รู้สึกเจ็บปวด ตึงในข้อเข่าเล็กน้อยแต่ยังสามารถดำเดินชีวิตตามปกติได้เพราะกระดูกผิวอ่อนข้อเริ่มกร่อนและเริ่มมีการหนาตัวขึ้นของกระดูกผิวใต้ข้อ

ระยะที่ 3 : ระยะเสื่อมปานกลาง เกิดการอักเสบ ข้อเข่าบวมและหลวม ส่งผลให้ทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างลำบาก ผู้สูงอายุจึงต้องพึ่งพาผู้อื่น

ระยะที่ 4 : ระยะรุนแรง กระดูกอ่อนเสื่อมมากจนถูกทำลายหมด เมื่อใช้ข้อเข่าจะรู้สึกเจ็บตลอดและข้อเข่าผิดรูป

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดข้อเข่าเสื่อม

แน่นอนว่าผู้สูงอายุนั้นมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าวัยอื่น ๆ ในการเกิดข้อเข่าเสื่อม นั่นเป็นเพราะความเสื่อมตามวัย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็มีบางปัจจัยเสี่ยงที่เราสามารถควบคุมได้เพื่อชะลอการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

ปัจจัยที่ควบคุมได้

  • การใช้งานข้อเข่า : การใช้งานข้อเข่าที่หนักเกินไปหรือการออกกำลังกายผิดวิธีจะส่งผลอันตรายต่อเข่าโดยตรง ท่าทางการนั่งก็ส่งผลทำให้เกิดการกดทับที่เข่าจนทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น นั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธินาน ๆ
  • น้ำหนักตัวมาก : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือโรคอ้วนจะทำให้ส่งผลโดยตรงต่อข้อเข่า ข้อเข่าจะถูกกดทับเพื่อรองรับน้ำหนักตัวขณะเดิน ทำให้เมื่อคนที่น้ำหนักตัวมากต้องเดินหรือเคลื่อนไหวนาน ๆ จะทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าคนที่น้ำหนักตัวน้อย
ผู้สูงอายุนั่งขัดสมาธิและชันเข่าหนึ่งข้าง
ผู้สูงอายุลงพุง

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

  • เพศ :  ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย ประมาณ 2-3 เท่า ความแตกต่างนี้เกิดจากฮอร์โมนเพศ โดยผู้หญิงเมื่อหมดประจำเดือนจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้ส่งผลต่อกระดูกและข้อ ผู้สูงอายุเพศหญิงจึงมีข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าเพศชาย
  • อายุ :  เมื่อเราอายุมากขึ้นความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากความ.เสื่อมโทรมตามวัย
  • พันธุกรรม : มีสารพันธุกรรมบางชนิดที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม
ผู้สูงอายุยิ้มแย้ม
พันธุกรรม

ดังนั้นการออกกำลังกายและควบคุมอาหารเพื่อให้น้ำหนักตัวตามเกณฑ์มาตราฐานอยู่เสมอ รวมถึงการไม่ใช้งานข้อเข่าที่ผิดวิธี จึงมีบทบาทสำคัญมากทุกเพศทุกวัยสามารถทำได้เพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของข้อเข่าก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ

ท่าออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุผ่าเข่า

การผ่าตัดเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยแพทย์จะทำการพิจารณาตามอาการและระดับความรุนแรงของโรคควบคู่กัน เมื่อผ่าตัดแล้วจำเป็นต้องใช้การฟื้นฟูเพื่อให้ผู้สูงอายุผ่าเข่าสามารถฟื้นคืนสู่การดำเนินชีวิตตามปกติให้ได้มากที่สุด การออกกำลังกายเป็นจึงเป็นส่วนสำคัญของการฟื้นฟูข้อเข่าหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุผ่าเข่า

การออกกำลังกายสามารถช่วยเพิ่มการทำงานของข้อเข่า เพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่น ลดอาการปวดอักเสบและป้องกันการเกิดซ้ำของโรคข้อเข่าเสื่อม จึงควรใช้ท่าทางการออกกำลังกายที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้สูงอายุผ่าเข่า การออกกำลังกายในผู้สูงอายุผ่าเข่าสามารถทำได้ทันที ตั้งแต่ 1 วันหลังผ่าตัด เพื่อลดความเจ็บปวด และป้องกันข้อติด ท่าทางการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุเข่ามีดังนี้ โดยแบ่งตามระยะเวลาหลังการผ่าตัด

ระยะแรกหลังผ่าตัด

: 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด

สามารถเพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ง่าย ๆ โดย

  1. Pumping exercise กระดกข้อเท้าขึ้นลง โดยให้ผู้สูงอายุที่ผ่าเข่านอนราบ เหยียดขาตรง พยายามเหยียดเข่าตรงให้มากที่สุด อาจงอได้เล็กน้อย ใช้ผ้ารองใต้ข้อเท้าเพื่อให้เข่าสามารถเหยียดตรงได้ จากนั้นให้กระดกข้อเท้าขึ้นและลง ท่านี้จะช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อโดยสามารถทำได้ตั้งแต่วันแรก ๆ หลังผ่าตัด เนื่องจากผู้สูงอายุสามารถทำเองได้ง่ายๆและไม่มีแรงกระแทก
  2. การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ให้ผู้สูงอายุผ่าเข่าฝึกงอเข่าจนมีองศาของการเคลื่อนไหวได้อย่างน้อย 0-60 องศา โดยนั่งเหยียดขาและกดให้ข้อพับเข่าให้สัมผัสกับเตียง เกร็งค้างไว้ 5-10 วินาที พัก 1 นาที หรือนั่งบนเก้าอี้พยายามเหยียดขาตรงพร้อมกับกระดกข้อเท้า เตียง เกร็งค้างไว้ 5-10 วินาที พัก 1 นาที
  3. การออกกำลังกายโดยปั่นจักรยานอยู่กับที่ (Stationary bicycle) แบบไม่มีแรงต้าน 
  4. เริ่มออกกำลังกายในน้ำ (Hydrotherapy) ได้ ถ้าแผลแห้งดีโดยมีนักกายภาพบำบัดคอยดูแล

ระยะกลาง

: ช่วงสัปดาห์ที่ 6 – สัปดาห์ที่ 12

สามารถให้ผู้สูงอายุผ่าเข่าออกกำลังกายต่อเนื่องได้ โดยเริ่มใช้น้ำหนักหรือแรงต้านในขาข้างที่ผ่าตัดได้มากขึ้นและเริ่มให้ผู้สูงอายุผ่าเข่าฝึกความทนทาน (Endurance) เช่น การเดิน ว่ายน้ำได้

ระยะท้าย

: 3 เดือน หลังผ่าตัด

สามารถออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงได้ตามปกติ เช่น ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เพราะการปั่นจักรยานจะมีแรงกระแทกต่ำ เริ่มต้นด้วย 5-10 นาทีและค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลา หรือการว่ายน้ำ การเดินในน้ำ การเต้นแอโรบิกเบา ๆ เป็นต้น

ข้อห้ามหรือข้อควรระวังของผู้สูงอายุผ่าเข่า

แม้ว่าการเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย และการดำเนินชีวิตตามปกติจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการฟื้นฟูข้อเข่า แต่ผู้ก็ยังคงมีข้อห้ามสำหรับสูงอายุผ่าเข่าเพื่อลดโอกาสการบาดเจ็บหลังผ่าตัด ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีแรงกระแทกสูง:  หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิ่ง การกระโดด หรือการเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหัน หลีกเลี่ยงการที่มีแรงมากระทบเข่าโดยตรงเพราะอาจทำให้ข้อเข่าเกิดการบาดเจ็บและขัดขวางกระบวนการฟื้นตัวได้
  2. หลีกเลี่ยงการงอ การหมุนบิดข้อเข่ามากเกินไป: เพราะอาจทำให้บริเวณผ่าตัดเสียหายได้
  3. ค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นของการออกกำลังกาย: เริ่มด้วยการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำแล้วค่อยๆเพิ่มความเข้มข้นและระยะเวลา หลีกเลี่ยงการออกแรงมากเกินไปเพราะจะทำให้เจ็บปวด อักเสบและหายช้า
  4. นอนเหยียดขาตรง: ใช้ผ่าขนหนูวางรองใต้ข่อเท้าข้างที่ผ่าตัดเพื่อให้ข้อเข่าที่ผ่าตัดได้เหยียดตรง ห้ามใช้หมอนรองข้อเข่า
  5. ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงที่เหมาะสม:  เช่นที่รัดเข่าหรือไม้ค้ำยันตามที่แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดแนะนำเพื่อรองรับข้อเข่าและป้องกันการบาดเจ็บ
  6. ทานอาหารที่เหมาะสม: ทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม วิตามินและโปรตีนเพื่อการซ่อมแซมกระดูกและกล้ามเนื้อ

การดูแลผู้สูงอายุผ่าเข่าของ Winest

การให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวร่างกายหลังการผ่าตัดด้วยการออกกำลังกายตามระยะเวลาหลังการผ่าตัด จะช่วยให้ผู้สูงอายุฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็วขึ้น กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้รวดเร็วมากขึ้น ลดอาการบาดเจ็บแทรกซ้อน ญาติและผู้สูงอายุที่ผ่าเข่าจึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำในการทำกิจวัตรประจำวัน และกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอจากนักกิจกรรมบำบัด เนื่องจากหากผู้สูงอายุผ่าเข่าเคลื่อนไหวผิดท่าทางอาจจะทำให้เข่าบาดเจ็บมากขึ้น และได้รับการบำบัดฟื้นฟูร่างกายจากนักกายภาพบำบัด ที่จะช่วยออกแบบท่าทางการออกกำลังกาย คอยเฝ้าระวังความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหลังการผ่าเข่า

ศูนย์ดูผู้สูงอายุและฟื้นฟูผู้ป่วย Winest (วินเนสต์) มีทีมหมอ พยาบาล และทีมสหวิชาชีพทางการแพทย์ครบวงจร ที่จะช่วยวางระบบการดูแลฟื้นฟู และจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องพักอย่างเหมาะสมกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะแต่ละราย

โดยสรุป การออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญของการฟื้นฟูในผู้สูงอายุผ่าเข่า แต่การออกกำลังกายจำเป็นต้องทำอย่างปลอดภัยและเหมาะสม จึงจะสามารถช่วยฟื้นฟูข้อเข่า เพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่น ลดความเจ็บปวดและการอักเสบ สำคัญอย่างยิ่งคือ ต้องพึงระวังในข้อห้ามของผู้สูงอายุผ่าเข่าเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของโรคข้อเข่าเสื่อมและการฟื้นฟูที่ได้ผลดีในระยะยาว

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

เอกสารอ้างอิง
Meesarapee, K., Suwankrauhasn, N., & Chintanawat, R. (2022). ความรอบรู้ด้านสุขภาพและการจัดการตนเองในผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมระยะที่3. Ramathibodi Nursing Journal, 28(3).
Kankayant, C., Charoennukul, A., & Wayo, W. (2020). การชะลอการเกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ. Ramathibodi Nursing Journal, 26(1), 5-17.
ณัชชา ตระการจันทร์, & พัศจี พรยศพิทักษ์. (2020). การฟื้นฟูสมรรถภาพหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม. วารสารศูนย์อนามัย ที่ 9: วารสารส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม, 14(34), 271-284.
บทความก่อนหน้า >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down