Highlight
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง
จากบทความ “รู้ทันอัลไซเมอร์ เข้าใจอาการ ระยะ สาเหตุ และความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์” ผู้อ่านทุกท่านคงจะตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ และภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
ในสหรัฐอเมริกา อัลไซเมอร์ เป็นโรคอันดับต้น ๆ ของกลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่เคยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ในผู้หญิงและอันดับที่ 8 ในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากผู้สูงอายุสมองเสื่อมจะมีปัญหาด้านความจำ ส่งผลต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ นำไปสู่การติดเตียงและเสียชีวิตในที่สุด
หากทราบถึงต้นตอของโรค และมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ ดังนั้นการศึกษาและทราบถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันภาวะนี้ก่อนที่จะเกิดขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคในกลุ่มของภาวะสมองเสื่อม ได้แก่
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease; AD) และโรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือด (Vascular dementia; VaD) สำหรับโรคที่ไม่พบบ่อยในกลุ่มภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคสมองเสื่อมส่วนหน้า (Frontotemporal dementia; FTD) โรคสมองเสื่อมจากลิววี บอดี (Dementia with Lewy bodies; DLB) แต่ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาในโรคเหล่านี้น้อย
ปัจจัยบางประการสำหรับภาวะสมองเสื่อมก็ไม่อาจสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น พันธุกรรม อายุ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ มากมายที่ท่านสามารถปรับเปลี่ยนได้ ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพดีหรือใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดี มีกลุ่มคนจำนวนมากที่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ โดยตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมและปรับรูปแบบการใช้ชีวิต ในส่วนถัดไปผู้เขียนจะขออธิบายเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในการเกิดภาวะสมองเสื่อมให้ทุกท่านได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
พันธุกรรม:
บุคคลที่สมาชิกในครอบครัวมีภาวะสมองเสื่อมก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อม
อายุ:
ยิ่งอายุมากขึ้นความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมก็จะเพิ่มขึ้นตาม โดยในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี มีโอกาสเกิดร้อยละ 2-10 และจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุก ๆ 5 ปีหลังจากอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งก็คือประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ
เพศ:
มีการศึกษาพบว่าเพศหญิงมีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมมากกว่าเพศชาย อย่างไรก็ตามยังคงต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย
กิจกรรมทางกาย:
บุคคลที่ทำกิจกรรมทางกายหรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยจะมีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมมากกว่าผู้ที่ทำกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ
การสูบบุหรี่:
การสูบบุหรี่มีผลกระทบต่อภาวะสมองเสื่อมและอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
ยา:
จากงานวิจัยพบว่ายาบางประเภทมีความสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม เช่น Benzodiazepines หรือกลุ่มยานอนหลับและยาคลายเคลียด
ระดับการศึกษา:
พบว่ากลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาต่ำจะมีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมมากกว่ากลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาสูง
การดื่มแอลกอฮอล์:
การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักส่งผลต่อสมอง ทำให้ระบบการประมวลผลของสมองแย่ลง และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมและโรคอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง
ค่าดัชนีมวลกาย:
น้ำหนักเกิน และโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและเบาหวาน
โรคที่เกิดขึ้นร่วมกัน:
ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่พบเป็นอันดับสองรองจากโรคอัลไซเมอร์
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม:
ปัจจัยอื่น ๆ เช่น มลภาวะ อาหารการกิน หรือรูปแบบการใช้ชีวิต เป็นต้น
ภาวะสมองเสื่อมเป็นโรคที่ซับซ้อนและมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย แต่ถ้าหากป้องกันอย่างถูกวิธีก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ โดยควรทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ งดการสูบบุหรี่ ทำกิจกรรมยามว่างเพื่อไม่ให้อยู่ว่าง และมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยท่านสามารถศึกษาวิธีการป้องกันภาวะสมองเสื่อมเพิ่มเติมได้ที่บทความ “ภาวะสมองเสื่อมป้องกันอย่างไรในวัยเกษียณ”
นอกจากนี้การทำกิจกรรมฝึกสมองเป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อกระตุ้นให้สมองสร้างเซลล์ประสาทในการประมวลผลความคิดความเข้าใจและลดความเสี่ยงในการภาวะสมองเสื่อมได้ “3 เกมแนะนำฝึกสมองผู้สูงอายุ” ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุวินเนสต์ (Winest Rehabilitation) มีนักวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรมและฝึกทักษะความคิดความเข้าใจ (Cognitive training) สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งวินเนสต์ไม่เพียงให้ความสำคัญเฉพาะการฝึกสมอง แต่ยังคำนึงถึงสภาพร่างกาย จิตใจของผู้สูงอายุ มีสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น บุคคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีการอบรมเฉพาะทาง ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้สูงอายุจะมีสุขภาวะที่ดีอย่างเป็นองค์รวมในทุก ๆ ด้าน
สรุป
ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลายประการ มีทั้งปัจจัยที่สามารถป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ หากผู้อ่านทุกท่านทราบถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้แล้ว ก็จะสามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้อย่างถูกวิธี
เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1763
กบ.กันต์ นิมิตรประเสริฐ
อ้างอิง
Purandare, N., Ballard, C., & Burns, A. (2005). Preventing dementia. Advances in psychiatric treatment, 11(3), 176-183.
Chen, J. H., Lin, K. P., & Chen, Y. C. (2009). Risk factors for dementia. Journal of the Formosan Medical Association, 108(10), 754-764.
https://www.alzheimers.org.uk/about-dementia/managing-the-risk-of-dementia/risk-factors-for-dementia