ผู้สูงอายุและการสำลักอาหารกลายเป็นเรื่องที่สำคัญและควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากการสำลักอาหารอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุได้ หากมีอาการสำลักอาหารอาจทำให้อาหารเข้าไปในปอดซึ่งอาจส่งผลทำให้ปอดติดเชื้อ หรืออาจเข้าไปในหลอดลมซึ่งเป็นอันตรายแก่ระบบหายใจ
ผู้สูงอายุบางรายมีอาการสำลักบ่อยครั้งจนเกิดความกลัวในการกลืนอาหาร ไม่ยอมรับประทานข้าว นำไปสู่ปัญหาภาวะขาดสารอาหารได้ รวมถึงผู้สูงอายุที่มักสำลักน้ำลาย เสมหะ หรือทานอาหารแล้วอาหารเข้าไปอุดกลั้นทางเดินหายใจจนทำให้หายใจไม่ออก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ปัญหาเล็กเหล่า ๆ นี้เป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ดังนั้นคนรอบข้างผู้สูงอายุควรได้รับการเรียนรู้แนวทางการช่วยชีวิตและการช่วยคนสำลักอาหาร บทความนี้ได้แนะนำการช่วยชีวิตและการช่วยคนสำลักอาหารโดยเฉพาะวิธีการช่วยชีวิตในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุกับการสำลักอาหาร
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งทางด้านกายภาพและระบบการทำงานของร่างกายที่แปรเปลี่ยนไปตามวัย ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ทำงานช้าลงรวมไปถึงร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ซึ่งปัญหาเล็ก ๆ เหล่านี้อาจนำไปสู่หนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ คือ ความสามารถในการกลืนอาหารที่ลดลง ทำให้เกิดการสำลักอาหารตามมาได้
เนื่องจากผู้สูงอายุมักเกิดการสำลักอาหารได้มากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ การเข้าใจถึงวิธีการดูแลอย่างใกล้ชิดและถูกวิธี จะเพิ่มความปลอดภัยในการรับประทานอาหารและลดความเสี่ยงในการสำลักอาหารของผู้สูงอายุ โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุสำลักอาหาร มีดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา : อายุที่มากขึ้นของผู้สูงอายุส่งผลให้ความสามารถในการเคี้ยวและการกลืนอย่างมีประสิทธิภาพลดลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและฟันที่ลดลงตามไปด้วย รวมไปถึงสุขภาพในช่องปากและการผลิตน้ำลายที่ลดลองสามารถนำไปสู่ความยากลำบากในการเคี้ยวและการกลืนอาหารของผู้สูงอายุ เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการสำลักอาหารได้
- ระบบการทำงานในร่างกายเสื่อมลง : ยกตัวอย่างเช่นระบบย่อยอาหาร ประสิทธิภาพการย่อยอาหารของผู้สูงอายุที่ลดลงส่งผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อและการทำงานของหลอดอาหาร ลำไส้ และกระเพาะ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เศษอาหารติดคอได้ตั้งแต่ต้นทางเดินอาหาร
- โรคประจำตัวของผู้สูงอายุ : อย่างไรก็ตามเราก็อาจจะมองข้ามเรื่องของโรคประจำตัวและการรับรู้ของผู้สูงอายุไม่ได้ ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ หรือ ภาวะโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ อาจส่งผลต่อการรับรู้และความสามารถของผุ้สูงอายุ ซึ่งทำให้การตอบสนองในการรับประทานอาหารหรือการขยับตัวของกล้ามเนื้อไม่เหมาะสม สาเหตุนี้ทำให้ผู้สูงอายุมีการกลืนลำบากและเพิ่มความเสี่ยงต่อการสำลักอาหารในผู้สูงอายุอย่างมาก
เพราะฉะนั้นการสำลักอาหารในผู้สูงอายุมีความเสี่ยงอย่างมากและผลที่ตามมาอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต การสำลักอาหารเนื่องด้วยเศษอาหารไปอุดกั้นทางเดินหายใจนำไปสู่การขาดออกซิเจน นอกจากนี้การสำลักอาหารอาจส่งผลต่อความมั่นใจในการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุได้ ดังนั้นจึงควรศึกษาวิธีการช่วยชีวิตและการช่วยคนสำลักอาหารเพื่อใช้เป็นแนวทางการป้องกันและช่วยเหลือผู้สูงอายุ
ขั้นตอนการช่วยเหลือคนสำลักอาหาร
การสำลักอาหารในผู้สูงอายุเป็นเหตุฉุกเฉินที่เป็นอันตรายถึงชีวิตซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีอาหารเข้าไปอุดในทางเดินหายใจ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการสำลักอาหารอันเนื่องจากมาจากสาเหตุที่เราได้กล่าวไปข้างต้น อย่างเช่น ภาวะการกลืนลำบาก หรือ ปริมาณน้ำลายในช่องปากที่น้อยในวัยผู้สูงอายุ
หากผู้สูงอายุมีอาการสำลักอาหาร สิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยการทำตามขั้นตอนการช่วยชีวิตและการช่วยคนสำลักอาหารทันที
อาการและสัญญาณของการสำลักอาหารอาจแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความรุนแรง เราสามารถประเมินสัญญาณและอาการของการสำลักอาหารได้ตั้งแต่เริ่ม โดยการตรวจเช็คอาการของผู้สูงอายุที่มีการสำลักอาหาร
ผู้ที่สำลักอาหารจะไม่สามารถส่งเสียงบอกได้ มีอาการไอ หรือมีอาการหายใจไม่ออกและแสดงอาการโดยจับไปที่ลำคอของตนเองเพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หากเห็นใครก็ตามที่แสดงอาการเหล่านี้ ต้องดำเนินการช่วยชีวิตอย่างรวดเร็วและประเมินสถานการณ์ในการช่วยชีวิตแก่ผู้ที่สำลักอาหาร โดยปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ขั้นแรกหากสังเกตอาการผิดปกติของผู้สูงอายุขณะรับประทานอาหาร ให้ผู้สูงอายุหยุดรับประทานอาหารทันที
- ตรวจสอบช่องปากของผู้สูงอายุ หากมองเห็นอาหารที่ติดอยู่ในช่องปาก ให้พยายามเอาออกมาโดยใช้นิ้ว อย่าเอานิ้วจิ้มไปที่คอและห้ามล้วงคอโดยเด็ดขาด อาจกลายเป็นการดันอาหารให้ลงไปลึกขึ้นทำให้การสำลักอาหารยิ่งแย่ลง
- หากผู้สูงอายุเริ่มแสดงอาการทรมาน ไม่สามารถส่งเสียงได้ ให้ทุบหลังตรงระหว่างไหล่ทั้งสองข้างก่อน 5 ครั้ง ด้วยแรงพอประมาณ หากอาหารยังลงไปไม่ลึกมาก อาจจะออกมาทางปากได้
- หากอาหารยังไม่ออกมา ให้เข้าทางด้านหลังของผู้ป่วย โอบผู้สูงอายุจากทางด้านหลัง เอามือประสานกัน กดไปที่หน้าอก ยกผู้สูงอายุเล็กน้อยแล้วเขย่าตัวเพื่อให้ผู้สูงอายุสำลักอาหารออกมา
- การช่วยชีวิตและช่วยคนสำลักอาหารควรรีบทำภายใน 3-5 นาทีที่แสดงอาการ เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้
- หากผู้สูงอายุมีอาการหายใจไม่ออก พูดไม่ออก มีอาการหน้าซีด ให้จับผู้สูงอายุนอนหงายบนพื้น เปิดทางเดินหายใจ ยกปลายคางขึ้น และ อีกมือหนึ่งกดหน้าผากลง เป่าปากเพื่อช่วยในการหายใจ
- ถ้าลองเป่าปากแล้วหน้าอกไม่ยกขึ้น ให้ใช้มือกดที่ท้อง ในท่านอนหงาย 6-10 ครั้ง
- หากผู้สูงอายุยังคงรู้สึกตัว พูดได้ และหายใจได้ตามปกติ แต่ยังรู้สึกว่ามีอาหารติดคออยู่ หรือ หากผู้สูงอายุยังมีอาการสำลักอาหารหลังจากทำตามขั้นตอนการช่วยชีวิตคนสำลักอาหาร หน้าซีดปากเขียวคล้ำ ต้องรีบพบแพทย์โดยทันที
ที่มา : https://www.niems.go.th/
แนวทางการป้องกันการสำลักอาหาร
- เตรียมอาหารให้แก่ผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม: ทั้งในส่วนของปริมาณที่ไม่ควรมากจนเกินไป ขนาดควรแบ่งเป็นชิ้นพอดีคำ หากเป็นชิ้นใหญ่ก็ควรตัดแบ่งให้สามารถรับประทานได้ง่ายและควรมีอาหารประเภทซุปหรือต้มจืดให้ผู้สูงอายุได้ซดเพิ่มความลื่นคอในระหว่างการรับประทานอาหารด้วย หั่นอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปรุงหรือนึ่งผักเพื่อให้ผักนิ่มลง เลือกอาหารที่นุ่ม ชุ่มชื้น และเคี้ยวง่ายเพื่อลดความเสี่ยงของการสำลัก หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ ผักดิบ และลูกอมแข็ง
- วิธีรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม: กระตุ้นให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารคำเล็ก ๆ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน การรับประทานอาหารช้า ๆ สามารถช่วยป้องกันไม่ให้อาหารชิ้นใหญ่ติดคอได้ ไม่ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ ขณะรับประทานอาหาร กระตุ้นให้ผู้สูงอายุจดจ่อกับการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียวและไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่อาจเบี่ยงเบนความสนใจจากมื้ออาหาร อาทิ การดูโทรทัศน์หรือการพูดคุยขณะเคี้ยวอาหาร เพราะจะนำมาสู่การสนทนาหรือการหัวเราะที่จะเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการสำลักอาหาร
- จัดอิริยาบถให้เหมาะสมในการรับประทานอาหาร: ในกรณีที่นั่งรับประทานก็ควรนั่งตัวตรงและในกรณีที่เป็นผู้สูงอายุติดเตียงควรยกศีรษะขึ้นสูงประมาณ 45 องศา เพื่อลดความเสี่ยงการสำลักอาหารที่อาจเกิดขึ้นได้
- ตรวจสอบขณะรับประทานอาหาร: หากผู้สูงอายุของท่านมีมีปัญหาการกลืนและการเคี้ยวซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดการสำลักอาาหาร แนะนำให้ดูแลแบบประกบผู้สูงอายุในช่วงรับประทานอาหารเพื่อเตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือหากจำเป็น ไม่รีบเร่งในการรับประทานอาหาร ให้เวลากับมื้ออาหารอย่างเพียงพอ หากจำเป็นต้องป้อนอาหาร ควรป้อนอาหารให้ผู้ป่วยด้วยความเร็วที่เหมาะสม โดยสังเกตว่าผู้ป่วยกลืนอาหารในปากแล้วจึงป้อนอาหารช้อนต่อไป และตักอาหารให้พอดีกับที่ผู้ป่วยสามารถเคี้ยวได้ การดื่มน้ำที่เพียงพอทำให้ช่วยกลืนอาหารได้ง่าย และหากผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือก็จะสามารถช่วยชีวิตได้ทันที
- ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น: เราสามารถสอนผู้ดูแลผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวถึงเทคนิคการปฐมพยาบาล การช่วยชีวิตและการช่วยคนสำลักอาหารเบื้องต้นดังที่กล่าวไปข้างต้นเพื่อให้ช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วในกรณีฉุกเฉิน
- การดูแลที่ครอบคลุม: การดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาการสำลักอาหาร อาจเกี่ยวข้องกับความสามารถในการกลืนและการเคี้ยวที่ลดลง ควรได้รับการดูแลร่วมกับทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพที่สามารถให้การบำบัดดูแลที่เฉพาะทางและเป็นรายบุคคลได้ เช่น บางรายอาจพบว่าไม่สามารถกลืนอาหารได้ ทานอาหารได้ลำบาก หรือต้องใส่สายยางให้อาหาร อันเป็นผลมาโรคต่าง ๆ ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพในการตอบสนองขณะรับประทานอาหารลดลง จำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียด และฝึกกระตุ้นการกลืนโดยนักกิจกรรมบำบัด เพราะหากเกิดการสำลักจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุวินเนสต์ Winest มีความพร้อมด้านการบำบัดฟื้นฟูและให้ความสำคัญการกลืนและการทานอาหารในผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เพราะเราเชื่อว่าการทานอาหารที่ดีและปลอดภัยจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ มีทีมเจ้าหน้าที่ที่สามารถช่วยชีวิตคนสำลักอาหาร และกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้สูงอายุกลับมารับประทานอาหารได้อย่างปกติมากที่สุดเท่าที่ความสามารถของผู้ป่วยจะทำได้
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุวินเนสต์ Winest มีทั้งนักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัดและนักแก้ไขการพูด วางแผนการบำบัดรักษาการกลืนร่วมกันอย่างครอบคลุมและตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้ป่วยแต่ละรายได้
สรุป
โดยสรุป การทำความเข้าใจสาเหตุการสำลักอาหารในผู้สูงอายุและเข้าใจการช่วยชีวิตในเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเพิ่มปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ การเลือกอาหารที่เหมาะสมและสร้างสภาพแวดล้อมในการรับประทานอาหารที่ปลอดภัย สามารถลดความเสี่ยงของการสำลักอาหารในผู้สูงอายุได้อย่างมาก ทำให้ผู้สูงอายุที่ท่านรักสามารถรับประทานอาหารได้อย่างมีความสุข เพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้สูงอายุและลดความอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096
กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล
เอกสารอ้างอิง
8 วิธีช่วยเหลือผู้ป่วย “สำลักอาหาร-อาหารติดคอ” ที่ถูกต้องhttps://www.sanook.com/health/17399/?fbclid=IwAR3iCxj99g-ts3mxfOyqRUk8PBwa7RHzv3mIB0PBSNdNmqscUMycf5swvhE สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 9, 2566
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (2566). การสำลัก https://www.bumrungrad.com/th/conditions/aspiration สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 9, 2566