การดูแลผู้ป่วยติดเตียง พร้อมวิธีจัดท่า และพลิกตะแคงอย่างถูกวิธี 

แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:

การจัดท่า และวิธีพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียง

ผู้ป่วยติดเตียงต้องพึ่งพาผู้อื่นในการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลจัดท่านอนที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพตามมาอีกมาก ทั้งแผลกดทับ ข้อติด กล้ามเนื้อลีบ การจัดท่านอนและพลิกตะแคงตัวให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ทุกส่วนของร่างกายได้ผ่อนคลาย รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วย

ผู้ป่วยติดเตียงคืออะไร

ผู้ป่วยติดเตียง คือ ผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เองตามปกติ เนื่องจากภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง ความพิการ หรือวัยชรา ซึ่งต้องนอนบนเตียงตลอดเวลาและพึ่งพาผู้อื่นในการทำกิจวัตรประจำวันทั้งหมด เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร ขับถ่าย โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพตามมา เช่น แผลกดทับ ปอดอักเสบ ข้อติด กล้ามเนื้อลีบ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

ความสำคัญของการจัดท่าให้กับผู้ป่วยติดเตียง

การจัดท่าให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกวิธีมีประโยชน์ดังต่อไปนี้

– ป้องกันแผลกดทับ: ช่วยกระจายแรงกดจากน้ำหนักตัวไม่ให้กดทับบริเวณใดบริเวณหนึ่งนานเกินไป 

– รักษาระบบทางเดินหายใจ: การนอนหงายตลอดทำให้เสมหะคั่งในปอด เพิ่มความเสี่ยงของปอดอักเสบ 

– ป้องกันข้อติด: การนอนงอขาหรือเหยียดขานานๆ น้ำไขข้อจะแห้ง ทำให้เกิดอาการข้อติดแข็งได้ง่าย

– ป้องกันกล้ามเนื้อลีบ: การขยับพลิกตะแคงตัวจะกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อไม่ให้ลีบเล็กลง

– เพิ่มความสุขสบาย: ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เปลี่ยนท่าทางบ้าง ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี ไม่ซึมเศร้า

ผลเสียของการนอนในท่าเดิมนาน ๆ ของผู้ป่วยติดเตียง

การนอนในท่าเดิมเป็นเวลานานเกิน 2 ชั่วโมงนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ ปอดอักเสบ ข้อติด และกล้ามเนื้อลีบแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อระบบอื่น ๆ ทั้งระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหาร และระบบไหลเวียนโลหิต เพราะเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ระบบต่าง ๆ ก็จะทำงานช้าลง เกิดอาการท้องอืด ท้องผูก ริดสีดวงทวาร ในรายที่มีบาดแผล น้ำเหลืองไหลเวียนได้ไม่ดี แผลก็อาจหายช้า เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำอีกด้วย

แผลกดทับ อันตรายอย่างไร

แผลกดทับเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการนอนนิ่งนาน ๆ ที่พบได้บ่อยและรุนแรงที่สุดในผู้ป่วยติดเตียง เกิดจากแรงกดทับบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายนานเกินไป จนเนื้อเยื่อขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้ผิวหนังบวม แดง เป็นแผลเปื่อย มีกลิ่นเหม็น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แผลจะลุกลามและติดเชื้อจนอาจกลายเป็นแผลเรื้อรังที่รักษาได้ยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย นอกจากนี้เชื้อโรคยังอาจแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ในที่สุด

วิธีจัดท่าสำหรับผู้ป่วยติดเตียง

ในการจัดท่าผู้ป่วยติดเตียงให้เหมาะสมนั้น มักจะใช้อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ บนเตียงร่วมด้วย ได้แก่ 

– หมอนข้าง หมอนรองแขน ขา เพื่อประคองให้อยู่ในท่าที่พึงประสงค์

– ผ้ารองกันเปื้อน กันซึม เช่น ผ้ายางปูเตียง ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ป้องกันไม่ให้ผิวหนังถูกความชื้น

– อุปกรณ์พยุงแขน ขา ป้องกันการเกร็งหดหรือหงิกงอของข้อต่อ

– ที่รองนอนแบบลมหรือเตียงน้ำ ลดแรงกดทับ กระจายน้ำหนัก ปรับระดับได้ตามสรีระ 

– อุปกรณ์ป้องกันแผลกดทับตามส่วนต่าง ๆ เช่น ที่รองส้นเท้า ข้อศอก สะโพก หัวไหล่

เทคนิคการพลิกตะแคง มีดังนี้

1. จัดให้ผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ใช้หมอนหนุนด้านหลัง ระหว่างขา แขน ให้ร่างกายอยู่ในแนวตรง 

2. ในกรณีผู้ป่วยมีแขนข้างที่นอนทับ ให้จับแขนข้างนั้นวางบนหมอนรองข้างลำตัวเพื่อไม่ให้ถูกทับ 

3. หมั่นสังเกตอาการบวมแดง รอยกดทับตามจุดต่าง ๆ ถ้าพบ ให้รีบเปลี่ยนท่านอนและจัดท่าใหม่

4. วางแผนผลัดเปลี่ยนพลิกตะแคงตัวให้ผู้ป่วยอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง ทั้งกลางวันและกลางคืน

ข้อควรระวังในการจัดท่าพลิกตะแคงให้ผู้ป่วยติดเตียง

1. อย่าบิดหรือหมุนตัวผู้ป่วยแรง ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุซึ่งกระดูกมีความเปราะบางอยู่แล้ว 

2. ระวังบริเวณที่มีสายระบายหรือสายให้อาหารต่าง ๆ อย่าให้ถูกดึงรั้งหรือเลื่อนหลุด  

3. ประเมินระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วยติดเตียงก่อนจัดท่าทุกครั้ง ถ้าดูแล้วไม่มั่นใจ หรือผู้ป่วยมีอาการทรุดหนัก ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลก่อน

4. หากผู้ป่วยมีแผลกดทับหรือกระดูกหัก ต้องปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการจัดท่าที่เหมาะสมเป็นพิเศษ

ข้อดีของการฝากผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุให้ศูนย์ดูแลผู้ป่วยหรือพักฟื้นที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุก่อนกลับบ้าน

การนำผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงไปพักฟื้นที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาลก่อนกลับไปอยู่บ้าน จะเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแลที่จะได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ ความรู้ในการปฏิบัติตัว การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างถูกต้อง ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ส่วนครอบครัวก็จะได้เตรียมความพร้อมทุกด้านในการรับผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่บ้านอย่างสบายใจ นอกจากนี้ ศูนย์ดูแลฯ ยังมีอุปกรณ์พิเศษ ความรู้เฉพาะด้านที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยได้ดีกว่าการดูแลที่บ้านอีกด้วย

ที่ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยวินเนสต์มีระบบการจัดท่าให้กับผู้ป่วยอย่างเหมาะสม มีเวรเข้าจัดท่าและตรวจสอบการขับถ่ายของผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ ทำความสะอาด และเปลี่ยนแพมเพิร์ส เมื่อผู้ป่วยประสงค์กลับบ้าน ก่อนกลับทางทีมดูแลจะมีการสอนการจัดท่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในท่านอน ท่านั่ง เพื่อให้ญาติๆ หรือผู้ที่ดูแลที่บ้านทำได้ถูกวิธี และลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะตามมา

สรุป

การจัดท่าและพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียงอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี จะช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับ ข้อติด กล้ามเนื้อลีบ ส่งเสริมการทำงานของระบบอื่น ๆ ในร่างกาย และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการจัดท่าด้วย 

การฝากผู้ป่วยไว้กับศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงจะช่วยให้ได้รับการดูแลที่ดีและปลอดภัยกว่า ก่อนจะกลับมาดูแลต่อเนื่องที่บ้านได้อย่างมั่นใจ  ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัวต้องให้ความร่วมมือกันในการปฏิบัติตัวและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปด้วยกัน

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1115

กบ.ณัฐพัชร์ สรรพธนาพงศ์

บทความก่อนหน้า >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down