7 วิธีฝึกสมองไม่ให้ลืม

แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:
สมองมีมือถือดัมเบล

Highlight

  • นวดขมับเป็นวงกลม ฝึกสมองสองซีกให้สมดุล
  • นวดร่องไหปลาร้า ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมอง
  • มือหนึ่งทำท่าจีบ อีกมือทำนิ้วรูปตัว L ทำสลับไปมา ฝึกสมองประสานมือกับตา ด้วย Brain gym
  • ฝึกสมองด้วย Brain gym ท่าโป้งก้อย
  • Brain gym ท่าแตะหู
  • Brain gym ท่าแตะจมูก-แตะหู
  • และการกดปุ่มใบหู เพื่อกระตุ้นเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงสมอง

สารบัญหัวข้อ

เพราะอะไรจึงต้องฝึกสมองผู้สูงอายุ ?

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ความสามารถในการรับรู้ของเราจะลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อความจำ การคิด และทักษะความเข้าใจ แต่ผลของการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายสมองอย่างสม่ำเสมอหรือ “การฝึกสมอง” สามารถช่วยรักษาและกระตุ้นการทำงานของสมอง กระตุ้นความคิดและความรู้ความเข้าใจ (Cognition) การฝึกสมองจะช่วยชะลอการเสื่อมถอยของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุและผู้ป่วยความจำเสื่อมที่มีภาวะของสมองที่เสื่อมถอยลงไปจากเดิมในทุกด้าน

โดยหลักการบริหารสมองคือ การฝึกสมองให้ส่วนต่าง ๆ มีการทำงานที่ประสานกันมากขึ้น ช่วยให้สมองทำงานอย่างเป็นระบบและเพิ่มความแข็งแรงของเซลล์สมอง ส่งเสริมประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ให้ทำงานได้ดีขึ้น เมื่อประสาทสัมผัสทำงานได้ดีจะก่อให้เกิดการกระตุ้นความจำ ความคิด การอ่าน การเขียน และการคำนวณได้ โดยกิจกรรมจะต้องกระตุ้นการใช้มือทั้งสองข้างหรือกิจกรรมที่ใช้ร่างกายสองซีกทำงานไปพร้อมกัน เพื่อไปกระตุ้นให้สมองสองซีกนั้นทำงานสมดุลกันมากขึ้น

ในบทความนี้เราจะชวนไปสำรวจและค้นหากิจกรรมฝึกสมองสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมสุขภาพสมองและการทำงานของสมอง

7 ท่าบริหารสมอง

ท่าบริหารสมองมีมากมายหลากหลายท่า เป้าหมายคือต้องการเพิ่มสหสัมพันธ์ระหว่างร่างกายทั้งสองซีกซ้ายและขวาซึ่งจะช่วยให้ไปกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดียิ่งขึ้น

  1. บริหารปุ่มสมอง : ใช้มือขวานวดบริเวณร่องไหปลาร้าเบา ๆ 30 วินาที แล้วสลับมือเพื่อนวดอีกข้าง ท่านี้จะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น
มือขวาที่กำลังนวดบริเวณร่องไหปลาร้า เพื่อช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น
  1. บริหารปุ่มขมับ : ใช้นิ้วมือสองข้างนวดเบา ๆ เป็นวงกลมบริเวณขมับทั้งสองข้าง 30 วินาที ระหว่างนวดให้กวาดตามองจากซ้ายไปขวา กวาดตามองจากพื้นขึ้นเพดาน ท่านี้จะช่วยให้สมองสองซีกทำงานสมดุลกันมากขึ้น
ผู้สูงอายุนั่งหลับตาใช้สองมือนวดบริเวณขมับสองข้าง ช่วยให้สมองทำงานสมดุล
ผู้ดูแลผู้สูงอายุใช้สองมือนวดบริเวณขมับสองข้างของผู้สูงอายุ ช่วยให้สมองสองซีกทำงานสมดุลกัน
  1. ท่าจีบ L : ยกมือทั้งสองข้างขึ้นมาให้มือขวาทำท่าจีบ มือซ้ายทำเป็นรูปตัวแอล (L) จากนั้นเปลี่ยนเป็นทำท่าจีบมือซ้าย ทำท่า L มือขวา แล้วทำสลับไปมา 10 ครั้ง ท่านี้จะช่วยกระตุ้นการทำงานของมือกับตาให้สัมพันธ์กัน
  2. ท่าโป้งก้อย : ยกมือทั้งสองข้างขึ้นมา มือขวายกนิ้วโป้ง มือซ้ายยกนิ้วก้อย จากนั้นเปลี่ยนเป็นยกนิ้วโป้งมือซ้าย ยกนิ้วก้อยมือขวา แล้วทำสลับไปมา 10 ครั้ง ท่านี้จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้สมดุลกัน
  3. ท่าแตะหู : มือซ้ายแตะหูขวา มือขวาอ้อมผ่านบนหัวมาแตะหูซ้าย จากนั้นเปลี่ยนเป็นมือขวาแตะหูซ้าย มือซ้ายอ้อมผ่านบนหัวมาแตะหูขวา แล้วทำสลับไปมา 10 ครั้ง ท่านี้จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองทั้งสองซีก
  4. ท่ากดปุ่มใบหู : ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับที่ส่วนบนสุดด้านนอกของใบหูทั้ง 2 ข้าง นวดตามริมขอบนอกของใบหูทั้ง 2 ข้างพร้อม ๆ กันให้นวดไล่ลงมาจนถึงติ่งหูเบา ๆ ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ท่านี้จะช่วยให้กระตุ้นเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงสมอง ช่วยเพิ่มสมาธิและความจำระยะสั้นให้ดีขึ้น
ชายสูงอายุนอนมีมือคนอื่นกดบริเวณใบหู ใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งจับบริเวณด้านนอกใบหูทั้งสองข้าง นวดตามริมขอบ
  1. ท่าแตะจมูก-แตะหู : ไขว้มือทั้งสองข้าง มือซ้ายแตะจมูก มือขวาแตะหูซ้าย จากนั้นเปลี่ยนมาเป็นไขว้มือทั้งสองข้างมือขวาแตะจมูก มือซ้ายแตะหูขวา แล้วทำสลับไปมา 10 ครั้ง ท่านี้จะช่วยให้การมองภาพในด้านซ้ายและขวาดีขึ้น

แค่ขยับก็เท่ากับพัฒนาสมอง

ผู้สูงอายุไม่ใช่ช่วงวัยที่ต้องอยู่นิ่ง หรือต้องไม่ทำกิจกรรมอย่างที่หลายคนเข้าใจ การที่ไม่ให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเลยกลับกลายเป็นผลเสียแก่ตัวผู้สูงอายุเอง นั่นก็เพราะ “การขาดกิจกรรมจะยิ่งทำให้สมองของผู้สูงอายุเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว” ยิ่งในผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยความจำเสื่อม ยิ่งต้องมีกิจกรรมฝึกสมองที่สามารถช่วยคงการทำงานของสมองไว้ให้สมองเสื่อมถอยลงช้าที่สุด

กิจกรรมยามว่างฝึกสมองผู้สูงอายุ

และนอกเหนือจาก 7 ท่าออกกำลังกายสมอง (Brain Gym) ดังกล่าวแล้ว กิจกรรมเกมหรือกิจกรรมยามว่างที่เหมาะกับผู้สูงอายุในรูปแบบอื่น ๆ ก็สามารถฝึกสมองได้ดีเช่นเดียวกัน และยังเป็นกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ในครอบครัวช่วยสานสัมพันธ์กันระหว่างผู้สูงอายุและลูกหลานได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น

ผู้สูงอายุเล่นหมากรุกกับหญิงสาว
ผู้สูงอายุเล่นเกมปริศนาอักษรไขว้
ผู้สูงอายุเล่นเกมจอย
  1. เกมปริศนาจิ๊กซอว์ : การไขปริศนาจิ๊กซอว์ให้สำเร็จต้องใช้ทักษะการมองเห็น ความสนใจ และความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นกิจกรรมฝึกสมองได้อย่างดีสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากสามารถช่วยฝึกสมอง เพิ่มการทำงานของสมองและกระตุ้นระบบความคิด และความรู้ ความเข้าใจ
  2. การทำสมาธิ : ช่วยให้จิตใจสงบ ผ่อนคลายและลดความเครียด นอกจากนี้ยังสามารถช่วยฝึกสมาธิ เพิ่มการจดจ่อ เพิ่มช่วงความสนใจ (Attention & Concentration) กระตุ้นความจำ และการทำงานของสมอง
  3. การเต้นรำ : การเต้นรำเป็นการประสานการเคลื่อนไหวเข้ากับดนตรี ซึ่งสามารถช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว การทรงตัว และการรับรู้ เป็นกิจกรรมฝึกสมองที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุเนื่องจากสามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคม ช่วยกระตุ้นระบบความคิด และความรู้ ความเข้าใจ
  4. งานศิลปะ : การสร้างสรรค์งานศิลปะจะช่วยพัฒนาสมองในรูปแบบของการแสดงออกและการเยียวยาทางอารมณ์ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของความรู้ความเข้าใจและเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้สูงอายุผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี
  5. เกมกระดาน : เกมที่เล่นได้ง่าย เข้าใจกติกากันอยู่แล้ว เช่น หมากรุก หมากฮอส จะสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ความจำ และทักษะการแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมฝึกสมองที่สนุกสนาน และให้ญาติลูกหลานหรือผู้ดูแลได้มีส่วนร่วมกับผู้สูงอายุ
  6. ของเล่นพัฒนาสมอง : ของเล่นพัฒนาสมองของเด็ก ๆ ที่ต้องใช้ความคิดเชิงตรรกะและทักษะการแก้ปัญหาก็สามารถนำมาประยุกต์เล่นกับผู้สูงอายุได้เช่นเดียวกัน เพราะสามารถช่วยกระตุ้นความจำ ความสนใจ และความยืดหยุ่นทางความคิดของผู้สูงอายุ
  7. การฝึกสมองออนไลน์ : มีโปรแกรมหรือแอพพลิเคชันฝึกสมองออนไลน์มากมายที่มีแบบฝึกหัดและเกมกระตุ้นความรู้ความเข้าใจที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาความจำ ความสนใจ และการทำงานของสมอง เช่น เกมจับคู่ เกมจับผิดภาพ เป็นต้น

ฝึกสมองกับ Winest

กิจกรรมฝึกสมองควรเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมให้แก่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยความจำเสื่อมจึงจะสามารถฝึกสมองได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะหากกิจกรรมทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเครียดท่านก็จะไม่ร่วมมือ ดังนั้นผู้ดูแลจึงควรสำรวจความสนใจของผู้สูงอายุว่าท่านมีความชอบแบบใด สนใจกิจกรรมอะไร และค่อย ๆ พาท่านทำกิจกรรมโดยมีคนรอบข้างคอยกระตุ้น ทำร่วมกันเพื่อความสนุกสนาน กิจกรรมจึงต้องมีความหลากหลายเพื่อส่งเสริมความคิดและกระตุ้นส่วนต่าง ๆ ของสมอง อาจผสมผสานท่าบริหารสมองและกิจกรรมฝึกสมองในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้เข้ากับกิจวัตรประจำวันผู้สูงอายุและผู้ป่วยสมองเสื่อม เพื่อให้ได้ฝึกสมองง่าย ๆ ในทุก ๆ วัน

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Winest มี นักกิจกรรมบำบัด ที่สามารถประเมินการทำงานของสมองด้านความรู้ ความเข้าใจ ค้นหาความสนใจในการทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ เพื่อจัดกิจกรรมการฝึกสมอง ฝึกความจำ ให้เหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสมองเสื่อมเฉพาะรายบุคคล และยังมีกิจกรรมประจำเทศกาลต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เข้าสังคม กระตุ้นความทรงจำในอดีต เพื่อชะลอความเสื่อมของสมองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

โดยสรุปแล้ว การให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยความจำเสื่อมได้มีกิจกรรมฝึกสมองเป็นประจำจะสามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพสมองและการทำงานของสมองได้ เช่น ท่าบริหารสมองจีบ L เกมฝึกความจำ การออกกำลังกาย ทำงานศิลปะ เข้าร่วมกิจกรรมดนตรี ล้วนเป็นกิจกรรมฝึกสมองที่สามารถช่วยพัฒนาความจำ ความสนใจ และความเร็วในการประมวลผลของสมอง จึงควรรวมเอากิจกรรมเหล่านี้เข้ากับกิจวัตรประจำวัน เพราะผู้สูงอายุและผู้ป่วยความจำเสื่อมยังคงต้องการฝึกความจำความเข้าใจ เพิ่มการรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

เอกสารอ้างอิง
- สมองดี รับสิ้นปี กับท่าบริหารสมองเสื่อม คุณนุสรา กลิ่นสุคนธ์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ศูนย์กีฬารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/สมองดี-รับสิ้นปี-กับท่าบ/
บริหารมือ เพื่อกระตุ้นสมอง : บำบัดง่ายๆด้วยกายภาพ (4 มี.ค. 64) https://youtu.be/jf8nICwuVjs
- 9 ท่าบริหารสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์ รายการสูงวัยใจแซ่บ EP 99 https://youtu.be/iKndcSxStFg
บทความก่อนหน้า >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down