เช็ค 6 จุดเสี่ยงที่ผู้สูงอายุมักลื่นล้มในบ้าน

หมวดหมู่:
August 1, 2023
แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:

“บ้านคือสถานที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ”

วัยสูงอายุ คือช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งในด้านสุขภาพร่างกาย การทำงานของสมอง และการเข้าสังคม ปัญหาที่เห็นได้ชัดสำหรับวัยสูงอายุคือ ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงในการเคลื่อนไหวและการทรงตัว ทำให้การเดินไม่ปลอดภัย ความเสี่ยงต่อการหกล้ม ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปด้วย โดยมักมีกิจกรรมนอกบ้านน้อยลง ใช้เวลาอยู่กับตัวเองและคนใกล้ชิดมากขึ้น บ้านจึงสำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ

“บ้าน” เป็นที่ที่มีความทรงจำและแสดงถึงสายใยความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุและครอบครัว  บ้านจึงควรให้ความรู้สึกปลอดภัย สงบสุขและใช้งานสิ่งต่าง ๆ ในบ้านได้ง่าย เป็นบ้านที่ที่เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย และควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม

ปัญหาการหกล้มในผู้สูงอายุ

การหกล้ม เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของผู้สูงอายุ เพราะการหกล้มเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในแต่ละปีมีหลายปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ เช่น การเคลื่อนไหวที่ลดลง ปัญหาการมองเห็น และปัญหาการทรงตัว

การทำความเข้าใจจุดต่าง ๆ ในบ้านที่อาจเป็นความเสี่ยงในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและการเข้าใจถึงวิธีการป้องกันการล้ม จะทำให้เราสามารถปรับการดูแลและการส่งเสริมการใช้ชีวิตภายในบ้านให้ตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุและครอบครัวได้

6 จุดเสี่ยงหกล้มของผู้สูงอายุในบ้าน

จุดเสี่ยงภายในบ้านที่มีความเสี่ยงต่อการล้มสำหรับผู้สูงอายุ

  • ทางเข้าบ้าน หรือประตูบ้าน: ทางเข้าบ้านที่มีบันไดหรือประตู มักจะรก เต็มไปด้วยสิ่งของต่าง ๆ เช่น รองเท้า ร่ม และกล่องพัสดุ อาจทำให้ผู้สูงอายุสะดุดหกล้มได้ง่าย นอกจากนี้ พื้นผิวที่ไม่เรียบ เช่น ธรณีประตู อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการหกล้มได้เช่นกัน
  • บันได: บันไดเป็นสถานที่ที่พบว่าผู้สูงอายุเกิดการหกล้มบ่อยครั้ง ยิ่งผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว เดินลำบาก หรือต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่นไม้เท้า ก็ยิ่งทำให้การเดินขึ้นลงบันไดเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้พรมหรือผ้าเช็ดเท้าที่วางบริเวณบันได หากติดตั้งไม่ดีก็สามารถทำให้ผู้สูงอายุสะดุดล้มได้
  • ห้องน้ำ: ห้องน้ำเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เกิดการล้มได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากพื้นมักจะเปียกและลื่น สถานที่คับแคบ มีข้าวของเครื่องใช้วางหลายจุด เช่น ฝักบัว อ่างล้างมือ โถส้วม ทำให้เดินเข้าและออกได้ยาก ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเดินชน หรือสะดุดหกล้มได้
  • ห้องนอน: ห้องนอนสามารถเป็นสถานที่ที่เกิดการหกล้มของผู้สูงอายุได้ เนื่องจากอาจมีทางเดินรกและพื้นผิวไม่เรียบ เตียงนอนที่สูงหรือต่ำเกินไปไม่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้
  • พื้นที่นั่งเล่นและพื้นที่ส่วนกลาง: พื้นที่นั่งเล่นเองก็เป็นสถานที่สำหรับผู้สูงอายุที่หกล้มได้เช่นกัน เนื่องจากผู้สูงอายุมักใช้งานบ่อยในเวลากลางวัน หากมีสิ่งของวางระเกะระกะเต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์หรือสายไฟที่ไว้ใช้เสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ อาจทำให้เกิดการสะดุดหกล้มได้
  • ห้องครัวและพื้นที่รับประทานอาหาร: บริเวณห้องครัวและพื้นที่รับประทานอาหารมักมีพื้นที่ลื่นหรือไม่เรียบเนื่องจากใช้เพื่อประกอบอาหาร รวมถึงเครื่องใช้ในครัวที่ทำให้สะดุดหกล้มได้

การป้องกันการล้มสำหรับผู้สูงอายุ

1. การปรับเปลี่ยนบ้าน: มีการปรับเปลี่ยนบ้านหลายอย่างที่สามารถทำได้เพื่อช่วยป้องกันการหกล้ม ได้แก่

  •  การติดตั้งราวจับ บริเวณจุดเสี่ยงหรือจุดที่ผู้สูงอายุใช้งานบ่อย ๆ โดยเฉพาะห้องน้ำ หรือสามารถติดตั้งได้ทั่วบ้านหากทำได้ เพราะราวจับสามารถเป็นที่ยึดที่ปลอดภัยเมื่อผู้สูงอายุต้องขึ้นหรือลงบันได ช่วยในการจับยึดเมื่อเดินไปมาในห้องน้ำ หรือขึ้นและลงจากเตียง
  • การเพิ่มแสง เพราะแสงสว่างที่น้อยอาจทำให้ผู้สูงอายุมองเห็นได้ยาก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการล้มได้ การติดตั้งไฟที่ให้แสงสว่างมากขึ้นหรือเพิ่มไฟในจุดเสี่ยงต่าง ๆ ในบ้าน เช่น โถงทางเดิน บันได และพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดการหกล้มเป็นประจำก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้
  • การถอดหรือยึดวัสดุปูพื้นที่หลวมให้แน่นมากขึ้น เช่น พรมหรือผ้าเช็ดเท้าที่ไม่ได้ติดแน่นไปกับพื้นอาจทำให้เกิดการสะดุดได้ โดยเฉพาะในบริเวณที่เปียกชื้น โดยสามารถติดเทปกาวสองหน้าให้แน่นหรือปรับเปลี่ยนวัสดุเป็นยางที่สามารถเกาะกับพื้นได้ดีกว่าก็สามารถช่วยป้องกันการหกล้มได้
interior-of-bathroom-for-the-disabled-or-elderly-people-handrail-for-disabled-and-elderly-people-in-the-bathroom

2. อุปกรณ์ช่วยเหลือ: มีอุปกรณ์ช่วยหลายอย่างที่ช่วยป้องกันการหกล้มได้ เหล่านี้รวมถึง

  • อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้าหรือวอล์คเกอร์ อุปกรณ์ช่วยเดินสามารถให้การรองรับน้ำหนักตัวของผู้สูงอายุและช่วยเพิ่มความมั่นคงขณะเดินซึ่งช่วยป้องกันการหกล้มได้
  • โถสุขภัณฑ์ควรเป็นแบบยกสูง โดยการมีฝารองนั่งเสริมชักโครก ช่วยให้ผู้สูงอายุลุกหรือนั่งโถส้วมได้ง่าย ใช้เก้าอี้อาบน้ำเพื่อให้ไม่เมื่อยในขณะอาบน้ำ และยังปลอดภัยในการใช้งาน ลดโอกาสพลัดตกหกล้มในขณะอาบน้ำ
  • ระบบตรวจจับการล้ม เช่น นาฬิกา smart watch สามารถใช้เพื่อแจ้งเตือนผู้ดูแลหากผู้สูงอายุเกิดการหกล้ม ซึ่งจะช่วยให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและป้องกันการบาดเจ็บสาหัสได้
elderly-woman-holding-on-walker-in-toilet
asian-senior-or-elderly-old-lady-use-toilet-bathroom-handle-security-in-nursing-hospital-healthy-strong-medical-concept
pleasant-middle-aged-woman-checking-her-heart-rate-data-on-smartwatch-after-workout-at-home-healthy-lifestyle-concept

3. การตรวจสอบความปลอดภัยในบ้านเป็นประจำ: การหมั่นตรวจสอบความปลอดภัยภายในบ้าน คือสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายที่สุด โดยไม่ได้ต้องปรับเปลี่ยนตัวบ้านมากนัก เพื่อให้สามารถจัดการกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและป้องกันได้ทัน

  • ตรวจสอบจุดเสี่ยงเป็นระยะ เช่น พรมที่ติดตั้งไว้หลวม ๆ ไม่แนบติดพื้น พื้นผิวลื่นหรือไม่เรียบ หรือบริเวณทางเดินที่รก
  • ตรวจสอบพื้นผิวที่ชำรุด และทำการซ่อมแซมพื้นผิวหรือส่วนที่เสียหายโดยด่วน
  • จัดเก็บของที่กีดขวางทางเดิน และจัดบ้านให้เรียบร้อย เพื่อลดโอกาสที่ผู้สูงอายุจะสะดุดสิ่งของจนหกล้ม
packed-household-stuff-for-moving-into-new-house
hand-of-construction-worker-in-protective-gloves-examines-old-broken-tile-floor-background-renovation-concept
shoes-on-a-wooden-staircase

การหกล้ม นับเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ เพราะการหกล้มของผู้สูงอายุนั้นอันตรายกว่าวัยอื่น ๆ หลายเท่าตัว  แต่เราสามารถป้องกันลดความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะหกล้มได้ ดังนั้นการหมั่นตรวจสอบบ้านให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุก็สามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุที่ท่านรักได้

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

บทความก่อนหน้า >

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down