3 เกมแนะนำฝึกสมองผู้สูงอายุ

แชร์บทความกับเพื่อนบนโซเชียล:

ในปัจจุบัน เป็นโลกแห่งเทคโนโลยี ที่การสื่อสารและการติดต่อระหว่างกันเกิดได้สะดวกและรวดเร็วผ่านสมาร์ทโฟนหรือมือถือ จนแทบจะกลายเป็นอวัยวะส่วนที่ 33 ของคนทุกช่วงวัย

ผู้สูงอายุหลาย ๆ ท่านก็ใช้มือถือหรือสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันไม่น้อยไปกว่าช่วงวัยอื่น ๆ ทั้งใช้เพื่อติดต่อพูดคุยกับลูกหลาน หาข้อมูลดูแลสุขภาพผ่านอินเตอร์เนตในสมาร์ทโฟน รวมไปถึงการใช้มือถือเพื่อฝึกสมองอีกด้วย

ผู้สูงอายุชายยื่นสมาร์ทโฟนให้ผู้สูงอายุหญิงดู

เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้สูงอายุในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งมีทั้งประโยชน์และข้อจำกัดสำหรับผู้สูงอายุ ดังต่อไปนี้

ประโยชน์ของสมาร์ทโฟนสำหรับผู้สูงอายุ

  1. การเชื่อมผู้สูงอายุเข้ากับสังคม: สมาร์ทโฟนสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวได้สะดวกมากขึ้น ผู้สูงอายุสามารถใช้สมาร์ทโฟนเพื่อโทรออก ส่งข้อความ และวิดีโอแชท สามารถช่วยลดความโดดเดี่ยวทางสังคม คลายเหงา ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในปัจจุบัน
  2. การเข้าถึงข้อมูล: สมาร์ทโฟนช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลได้มากมาย ผู้สูงอายุสามารถใช้สมาร์ทโฟนเพื่อติดตามข่าวสารบ้านเมือง เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องใหม่ ๆ ที่สนใจ และช่วยให้ผู้สูงอายุรับทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
  3. ความบันเทิง: สมาร์ทโฟนสามารถให้ความบันเทิงและการพักผ่อนแก่ผู้สูงอายุได้ ใช้เพื่อฟังเพลง ดูวิดีโอ เล่นเกม และอ่านหนังสือ สิ่งนี้สามารถช่วยเพิ่มความสุขและคลายความเบื่อหน่ายได้
  4. เพิ่มคุณภาพในการใช้ชีวิต: สมาร์ทโฟนสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับความต้องการส่วนบุคคลได้ โดยอาจใช้สมาร์ทโฟนเพื่อตั้งการเตือนต่าง ๆ เช่น นาฬิกาปลุกเพื่อทานยาตามเวลา การติดตามสุขภาพ และจดบันทึกการจัดการยาได้ สิ่งนี้สามารถช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ดีทีเดียว
  5. ความปลอดภัย: สามารถใช้สมาร์ทโฟนเพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังสามารถใช้แอพลิเคชั่นติดตามตำแหน่งของผู้สูงอายุที่อาจเสี่ยงต่อการหลงทางได้อีกด้วย
  6. ช่วยฝึกสมอง: มีแอพลิเคชั่นฝึกสมองมากมายในสมาร์ทโฟนที่สามารถช่วยพัฒนาทักษะการรับรู้ เช่น ความจำ ความสนใจ การแก้ปัญหา มีประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาด้านการรับรู้และความจำที่ลดลง เช่น โรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ เป็นต้น

ข้อจำกัดที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อผู้สูงอายุใช้สมาร์ทโฟน

  1. การเสพติด: ผู้สูงอายุสามารถเสพติดการใช้สมาร์ทโฟนได้ ซึ่งการเสพติดนี้อาจรวมไปถึงการรบกวนการนอนหลับของผู้สูงอายุ และทำให้ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตจริงเมื่อใช้มากเกินไป
  2. การถูกหลอก: ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงต่อการถูกหลอกทางอินเทอร์เน็ตมากกว่าวัยอื่น ๆ ไม่รู้ทันมิจฉาชีพที่จะเข้ามาหลอกทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านมือถือ
  3. การเข้าถึงยาก: สมาร์ทโฟนไม่ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้สูงอายุทุกคน สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการมองเห็น การได้ยิน หรือมีปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจ อาจใช้งานสมาร์ทโฟนยาก หากไม่มีผู้ดูแลคอยแนะนำการใช้

โดยรวมแล้ว การใช้มือถือหรือสมาร์ทโฟนสามารถส่งผลดีต่อชีวิตของผู้สูงอายุได้ หากผู้ดูแลและครอบครัวช่วยแนะนำผู้สูงอายุให้ใช้ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะการรับรู้ การเชื่อมต่อทางสังคม การเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อความผ่อนคลายและความบันเทิง

สิ่งสำคัญคือ ต้องประเมินดูว่าไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะสะดวกใจในการใช้สมาร์ทโฟน ผู้สูงอายุบางคนอาจมีปัญหาในการเรียนรู้วิธีใช้สมาร์ทโฟน หรืออาจไม่สนใจที่จะใช้สมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ตามหากมีญาติหรือผู้ดูแลคอยแนะนำใกล้ชิด ก็จะทำให้สมาร์ทโฟนสามารถเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้

เตรียมตัวให้พร้อม สู่วัยสูงอายุ…

3 เกมฝึกสมองสำหรับผู้สูงอายุ

1. Train your Brain – Memory

เกมฝึกสมองที่จะช่วยฝึกความจำได้หลายรูปแบบทั้ง การจำจากการอ่าน การจำจากมองเห็น การจดจำใบหน้า เช่น ให้จดจำเมนูอาหารแล้วไปเลือกซื้อให้ครบถ้วน เป็นต้น

เป็นเกมที่เล่นได้ง่ายไม่ซับซ้อน เริ่มไต่จากระดับง่ายไปจนถึงยาก เพิ่มความท้าทายในการเล่นเพื่อให้ผ่านแต่ละระดับ เกมจะช่วยกระตุ้นให้สมองส่วนความจำทำงานได้ดีขึ้น

2. Candy crush saga

เกมที่โด่งดังสามารถเล่นได้ง่าย ๆ ทุกเพศทุกวัย จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุเพราะตัวเกมเข้าใจง่ายสีสันสวยงามสดใส กระตุ้นการใช้สายตาและการมองเห็นได้อย่างดี กระตุ้นความรวดเร็วในการตอบสนองของผู้สูงอายุได้ 

วิธีการเล่นง่ายมากเพียงแค่พยายามเรียงลูกอมสีเดียวกันให้ได้เกิน 3 เม็ด ขึ้นไป ก็จะได้คะแนนและไต่ระดับความยากไปเรื่อย ๆ

3. Monica – concentration training

เกมฝึกสมองของคนไทยในบริบทไทย เพื่อพัฒนาสมาธิและความจำ เหมาะสำหรับทุกคนรวมไปถึงผู้สูงอายุและผู้ป่วยสมองเสื่อม

เพื่อช่วยกระตุ้นสมองทั้งด้านสมาธิ ความจำ ภาษา การรับรู้และตอบสนอง

วิธีการเล่นคือให้มองภาพและจำไว้เมื่อมีภาพขึ้นมาให้ตอบว่าเหมือนกับรูปก่อนหน้าหรือไม่ โดยขณะเล่นอาจมีผู้ดูแลคอยให้คำแนะนำในเบื้องต้นทั้งก่อนและระหว่างเล่น เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น

ตัวเกมมีตารางคะแนนให้ดูเปรียบเทียบในแต่ละครั้งเพื่อใช้ดูความก้าวหน้าของผู้เล่นได้

วิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางความคิด ที่นักกิจกรรมบำบัดใช้ เพื่อกระตุ้นความจำในผู้สูงอายุ

  1. กิจกรรมฝึกความจำ : เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นทักษะความจำ สมาธิและความสนใจจดจ่อ การฝึกความจำสามารถทำได้ทั้งแบบฝึกเดี่ยวและเป็นกลุ่ม และสามารถฝึกได้หลายรูปแบบ เช่น แบบฝึกหัดความจำต่าง ๆ ผ่านการเขียนโดยใช้กระดาษและดินสอ เช่น เกมโยงเส้นจับคู่ภาพเหมือน เกมจับคู่ภาพกับเงา เกมจำรูปภาพ เกมทายชื่อสถานที่สำคัญหรือสถานที่ในความทรงจำของผู้สูงอายุแต่ละท่าน
  2. กิจกรรมกระตุ้นทักษะการรับรู้และการวางแผนจัดการ : กิจกรรมที่ใช้การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล และการตัดสินใจ เช่น เกมกระดาน ต่อจิ๊กซอ หรืองานศิลปะต่าง ๆ
  3. สร้างตัวช่วยเตือนความจำ : เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น ทำสัญลักษณ์ไว้ที่ปฏิทินถึงรายการสิ่งที่ต้องทำ ให้ผู้สูงอายุเห็นชัดเจนและไม่ลืมที่จะทำ การจัดระเบียบแยกประเภทยาและตั้งเวลาเตือนในการกินยาผ่านสมาร์ทโฟนของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเมอร์มักจะชอบทำกิจกรรมซ้ำซ้อนโดยลืมว่าทำไปแล้ว ในศูนย์ดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อมและผู้ป่วยอัลไซเมอร์นักกิจกรรมบำบัดจะออกแบบจัดทำกระดานช่วยเตือนความจำให้ผู้สูงอายุไม่ลืม หรือทำกิจวัตรประจำวันซ้ำซ้อน เช่น เมื่ออาบน้ำ หรือทานข้าวในแต่ละมื้อแล้ว ให้แปะสติ้กเกอร์ลงกระดานว่าได้ทำกิจกรรมนั้นไปแล้ว
  4. การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม : การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจะช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านความจำใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น โดยจัดบ้านให้มีระเบียบไม่รก วางของไว้ที่เดิมสม่ำเสมอ ติดฉลากหรือทำสัญลักษณ์บนของใช้ที่ต้องใช้ประจำ จัดให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก

โดยนักกิจกรรมบำบัดในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุของเราก็จะทำหน้าที่ในการประเมินความสามารถก่อนการฝึกและวางแผนจัดกิจกรรมการฝึกให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้สูงอายุ นอกเหนือจากวิธีการกระตุ้นต่าง ๆ ที่ระบุไว้ข้างต้น ยังมีการบำบัดด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่จัดทำกิจกรรมการบำบัดโดยผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น เช่น 

  • การบำบัดด้วยการระลึกความหลัง (Reminiscence Therapy) : เป็นการพูดถึงประสบการณ์ในอดีต ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นความจำและการระลึกได้ 
  • ดนตรีบำบัด (Music Therapy) : เกี่ยวข้องกับการฟังเพลงซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความจำและการแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม 
  • ศิลปะบำบัด (Art Therapy) : เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ศิลปะ ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นความจำและการทำงานของสมอง 

การฝึกสมองผ่านเกมในมือถือและการฝึกกิจกรรมบำบัดในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถใช้ฝึกสมองในผู้สูงอายุโดยทำร่วมกันได้ ขึ้นอยู่กับระดับความสามารถของผู้สูงอายุแต่ละท่าน

การฟื้นฟูด้านความรู้ความเข้าใจและความจำ เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและไม่สามารถกระตุ้นเพียงครั้งเดียวแล้วจะช่วยเพิ่มความจำในผู้สูงอายุได้ แนวทางที่ดีที่สุดคือการฝึกกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ พาผู้สูงอายุทำกิจกรรมและพาเข้าสังคม ไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพังเพราะนั่นยิ่งทำให้ความสามารถลดถอยอย่างรวดเร็ว

จึงควรเข้าใจโรคต่าง ๆ ที่มีผลต่อสมองและความจำของผู้สูงอายุ ปรึกษาแนวทางการฝึกร่วมกับนักกิจกรรมบำบัดเพื่อออกแบบโปรแกรมฝึกให้เหมาะสมมากที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ

เขียนโดย : นักกิจกรรมบำบัด ก.บ.1096

กบ.กอข้าว เพิ่มตระกูล

เอกสารอ้างอิง

โหลดเลย ‘MONICA’ เกมฝึกสมอง ใครๆ ก็เล่นได้ ‘สูงวัย’ เล่นยิ่งดี https://www.nstda.or.th/home/news_post/monica-mtec/

บทความเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คุณอาจสนใจ

Copyright 2024 © Winest - All rights reserved.
crossmenuchevron-down